วันนี้เป็นวันเปิดตัวลีกใหม่สุดไฉไลของวงการบาสเกตบอลประเทศไทย Thailand Professional Basketball League (TPBL) แล้ว! สำหรับคอบาสเกตบอลชาวไทยแล้ว แค้่การที่มาบาสให้ติดตามชมติดตามดูในประเทศก็น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะชักชวนให้มาดูกันแบบติดขอบจอ แต่ถ้าใครที่พบว่าตัวเองไม่มีแรงบันดาลใจจะติดตามรายการแข่งขันครั้งนี้ มาอ่านนี่มา พี่จะสาธยายให้ฟัง
และนี่คือ 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลาดการติดตามชม TPBL ไม่ได้ในซีซั่นนี้!
อนาคตใหม่ ต้องเริ่มติดตามแต่วันนี้
ถ้าคุณอยากดูบาสแล้วแบบ มองแว่บไปเห็นอนาคตของวงการบาสทีมชาติไทยแล้วละก็… จะพลาดติดตามการแข่งขัน TPBL ไม่ได้นะเฟร้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็การแข่งขันของ สโมสรการไฟฟ้าฯ (PEA) กับทีม SWU Basketball Club นี่แหละ
รายชื่อผู้เล่นของทีม “แตนอาละวาด” (ฉายาตั้งเอง ใครมีเท่กว่านี้ก็แชร์มา) SWU ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นผู้เล่นจากสังกัดมหาวิทยาลัยศรีนิครินทร์วิโรฒทั้งนั้น แล้วก็อย่างที่รู้กันว่า มศว. นี่คือ มหาวิทยาลัยที่เรียกได้ว่าแกร่งที่สุดในวงการ ตัวผู้เล่นที่น่าสนใจและน่าจับตากับอนาคตในภายภาคหน้าต่อไป ก็คงต้องเป็น “โบ๊ท” ณัฐวรณ์ บรรจถรณ์ อดีตผู้เล่นทีมชาติชุด U18 ชิงแชมป์เอเซียปี 2016
โบ๊ท เป็นมือปืนที่พวกความมั่นใจมาเกินร้อยเสมอ ยากที่จะมีใครเทียบไม่ว่าจะอายุรุ่นไหน และ เมื่อไหร่ก็ตามที่ทักษะการเล่นด้านต่างๆ ของเขาเริ่มไล่ตามทันระดับความมั่นใจที่มีอยู่ เขาจะกลายเป็นผู้เล่นที่ติดตามดุได้อย่างสนุกสนานแน่ๆ
ในส่วนของทางด้านการไฟฟ้าฯ ก็จะเป็นรายชื่อผู้เล่นที่เต็มไปด้วยกองกำลังจากทีมของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถึงแม้ว่าจุฬาฯ อาจจะไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากเท่าไหร่นัก แต่ “โค้ชหมู” กฤต ไพดรจน์พีระไพศาล ก็ได้ขุนกองกำลังในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นทีมที่สามารถเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศกีฬามหาวิทยาลัยครั้งล่าสุดนี้มาได้ (แต่ก็ดั๊นไปแพ้ มศวง นี่แหละ)
รายชื่อผู้เล่นของการไฟฟ้า จริงๆ แล้วก็มีผู้เล่นที่เป็นระดับทีมชาติ U18 ชิงแชมป์เอเชีย ปี 2018 ถึง 3 คน แต่คนที่น่าจับตามองที่สุดคือ “บูม” พงศกร เจียมสวัสดิ์ ที่หลายๆ คนมองไว้แล้วว่าต้องเป็นตัวท้อปของทีมชาติในยุคต่อๆ ไป แน่นอน แม้ว่าตอนนี้จะวัยเพียง 19 ปี แต่ก็เล่นในระดับอาชีพกับการไฟฟ้าฯ มาแล้วหลายปี อีกทั้งยังเบียดขึ้นมาเป็นตัวจริงของทีมได้แล้วอีกด้วย
มันก็ไม่ได้มีแค่นี้หรอก ดาวรุ่งฝีมือดี มีอยู่ทุกทีมนั้นแหละ ในรายการ TPBL ครั้งนี้ วึ่งนี่แหละ คือสิ่งที่ดีที่น่าติดตามสำหรับรายการแข่งขันครั้งใหม่อันนี้
“นี่บ้านฉัน นั่นบ้านเธอ” การแข่งระบบ เหย้า-เยือน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ วงการบาสไทย แทบจะไปฝังตัวอยู่ที่เดียวมาตลอด นั่นก็คือ สนาม gSB Stadium29 ซึ่ง ใช่ มันเป็นสนามที่ดีมาก ทันสมัย สะดวกสบายในการชมการแข่งขัน… แต่การที่แข่งกันอยู่สนามเดียวมาตลอดมันทำให้เข้าถึงแฟนๆ ได้อย่างไม่กว้างขวางเท่าไหร่หรอก
ในการแข่งขัน TPBL ครั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้าหมายกับการขยายฐานแฟนบาสเกตบอลไทย ด้วยการออกไปแข่งหลายๆ สนามในระบบการแข่งขันแบบ เหย้า-เยือน สำหรับแต่ละทีม โดยมีสนามที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ สนาม อบจ. จันทบุรี (ทีม Mono Scorpions) ที่จังหวัดจันทบุรี และ สนาม Terminal Hall (ทีม Korasauras) ที่จังหวัดนครราชสีมา
การที่สามารถไปจัดแข่งตามจังหวัดต่างๆ ก็จะทำให้แฟนๆ ในแต่ละภูมิภาค มีโอกาสได้เข้าถึงการแข่งขันระดับสูงได้มากขึ้น และ ได้เข้าถึงใกล้ชิดกับนักกีฬามากขึ้น
การที่การแข่งขันแต่ละเกม มีการเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ ก็ย่อมทำให้เกิดสตอรี่ต่างๆ นานาตามขึ้นมาอีกด้วย ให้แฟนๆ สนทนากันต่อยอดอีกที ในปี 2014 นั้นทาง TBL ก็เคยมีการจัดสนามการแข่งขันในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือเป้นการวนสนามเจ้าภาพในแต่ละสัปดาห์ไปเรื่อยๆ ก็สร้างสีสันให้กับการแข่งขันได้มาก และ ก็ทำให้แฟนๆ โหยหา บรรยากาศเดิมๆ แบบนั้นอีกครั้ง
คิดว่ารูปแบบการแข่งขันแบบ เหย้า-เยือน ครั้งนี้ น่าจะเพิ่มชีวิตชีวา ให้การแข่งขันบาสเกตบอลในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งผู้จัดก็แสดงความชัดเจนว่าเห็นถึงความสำคัญของสิ่งนี้ ด้วยการจัดการแข่งขันนัดเปิดสนามของลีกที่ นครราชสีมา ในวันที่ 13 มิถุนายน เลยทีเดียว
คู่อริตลอดกาล โมโน-ไฮเทค
จริงๆ ก็รู้สึกแปลกใจไม่ใช่น้อยที่ เรื่องราวเบื้องหลังไฟต่อสู้อันดุเดือดระหว่างทีมในเครือของ โมโน กับ ทีมในเครือของ ไฮเทค กลับไม่ค่อยได้ถูกถ่ายทอดอย่างจริงๆ จังๆ เท่าไหร่นักในวงกว้าง กับการแข่งขันบาสเกตบอลในประเทศไทย บางทีกระแสมันเงียบจนเหมือนกับว่าแต่ละทีมพยายามจะไม่ยอมรับเท่าไหร่นัก ว่าต่างฝ่ายต่างก็มีความที่ไม่อยากยอมแพ้อีกฝ่ายออกสื่อเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะ การที่มีคู่อริที่ดุเดือดแบบนี้ ในทุกๆ ลีกการแข่งขัน ถือว่าเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้คนมาติดตามดูอย่างจริงๆ จังๆ
แต่ถึงแม้ว่า การแข่งขันระหว่างสองฝ่ายนี้ จะไม่ได้มีการผลักดันเท่าไหร่นัก มันก็ยังไม่วายที่แฟนๆ บาสทุกคนในประเทศย่อมต้องจับตาการประคบคู่ของสองทีมนี้เสมอ ทั้งไฮเทค และ โมโน ต่างก็เข้ารอบชิงมาด้วยกันใน TBL สามปีที่ผ่านมา ผู้เล่นแต่ละคน หรือ แม้แต่โค้ชเองก็มีเรื่องราวที่ทำให้ไฟแห่งการแข่งขันลุกโชนมากยิ่งขึ้น
อยากได้ฉายาสำหรับคุ่อรินี้แบบเท่ๆ เหมือน “วันแดงเดือด” อะไรเทือกนี้ แต่ก็คิดไม่ออก
ใครคิดออกก็บอกหน่อยละกัน
และที่ดีกว่านั้นก็คือ แฟนๆ ไม่ต้องรอกันนานจนเกินไปกว่าสองทีมนี้จะปะทะกัน โดยทางลีกได้วางไว้เป็นการแข่งขันนัดที่สองของฤดูกาล ในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายนเลย
แชมป์ครั้งแรก มีได้แค่ทีมเดียวโว้ย
มันไม่ได้มีโอกาสบ่อยๆ นะ ที่คุณจะมีโอกาสที่จะได้เป็น “แชมป์ครั้งแรก” ของการแข่งขันรายการใดๆ ก็ตาม ทีมที่คว้าจำนวนแชมป์มากที่สุด มันเปลี่ยนไปมาได้ตลอดนะ แต่คิดๆ ดูแล้ว ทีมที่จะได้รับการประทับตราว่าเป็น “แชมป์ TPBL ทีมแรก” เนี่ย มันจะมีได้แค่ทีมเดียวเองนะ จะไม่มีใครสามารถมาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มันเกิดขึ้นตรงนี้ได้อย่างแน่นอน
(แต่ก็แบบ… ทีมที่ได้แชมป์เป็นทีมที่สอง มันก็มีได้แค่ทีมเดียวเหมือนกันละวะ แต่การเป็นทีมแรกมันก็เท่กว่าใช่ไหมละ?)
(แต่ก้นะ… แทบไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำว่า ทีมที่ได้แชมป์ NBA ทีมแรกคือทีม Philadephia Warriors เหมือนกัน จริงๆ แล้วมันสำคัญไหมวะเนี่ย)
ท้ายสุดแล้วก็นั่นแหละ การที่จะได้ติดตาม TPBL ตลอดทั้งฤดูกาล ติดตามเรื่องราวที่ค่อยๆ คลี่คลาย จนได้ทีมเพียงทีมเดียว ที่จะเรียกได้ว่าเป็นแชมป์แรกของ TPBL ในประวัติศาสตร์เนี่ย… มันก็เป็นสิ่งที่น่าติดตามดีออก ว่าไหมละ?
เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าลืมติดตามเฟร้ย TPBL เกมแรก ระหว่างเจ้าบ้าน Korasaurus กับทีมเยือน Mono Warriors ที่ Terminal Hall จังหวัดนครราชสีมา แข่งกันเวลา 18.20 น. เจอกัน!