ความหงุดหงิด เป็นอะไรที่ยากจะปิดบัง ในหลายๆ ครั้งก็อาจจะยิ้ม หรือ หยอกล้อคนอื่น เพื่อกลบเกลื่อนได้ แต่ท้ายที่สุด มันก็ต้องมีช่วงเวลาที่เราเผลอตัว และ แสดงความหงุดหงิดนั้นออกมา
For English, read here.
อย่างที่ได้กล่าวมาในพื้นที่นี้ อย่างต่อเนื่อง ทีมโมโน แวมไพร์ เพิ่งจะเข้าร่วมการแข่งขัน ABL เป็นครั้งแรก และ พวกเขาจะใช้ผู้เล่นท้องถิ่นเป็นกำลังหลักของทีม แน่นอนว่าไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเปิดตัวอย่างหรูหราอลังการชนะรัวๆ แบบทิ้งห่างเกมละ 20 แต้ม
ทุกคนก็รู้อยู่แล้ว ว่าขั้นตอนมันก็คงละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่ ฟิลาเดลเฟีย เซเวนตี้ซิกเซอร์ส ทำอยู่

#TrustTheProcess สิ
เชื่อในตัวฉัน เชื่อในระบบสิ
แต่ไม่ว่าแรงศรัทธาจะแรงกล้าขนาดไหน ถ้าแพ้อย่างฉิวเฉียดต่อเนื่องเรื่อยๆ มันก็คงต้องกัดกินจิตใจที่แข็งแกร่งไปบ้าง
รายละเอียดการแข่งขัน
ผลการแข่งขัน: สิงคโปร์ สลิงเกอร์ส 72 – โมโน แวมไพร์ 66
เทปการแข่งขัน: https://www.youtube.com/watch?v=dHJKsjGrQeY
สถิติ: http://www.fibalivestats.com/u/abl/224754/
ทีมโมโน แวมไพร์ ก็ถือว่าได้พักผ่อนกันมาพอสมควร พวกเขาเดินทางมาหนึ่งคืนก่อนวันแข่งแล้ว และคราวนี้ ก็ไม่ใช่การเดินทางยาวนาน 18 ชั่วโมงแบบตอนที่เดินทางไปที่ ดาเาว เหมือนตอนที่ไปแข่งกับ พิลิพินาส อากีลาส
แต่ก็นะ…เพิ่งจะผ่านไปเพียง 4 วันหลังจากที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดกับทีมคู่อริ ไฮเทค บางกอก ซิตี้
เป็นไปได้ว่า ความล้าสะสม ก็ส่งผลกับการแข่งขันครั้งนี้ เพราะทีมสลิงเกอร์สเองก็ได้เปรียบตรงที่ได้เล่นที่บ้าน อีกทั้งยังห่างจากการแข่งขันมาถึง 8 วันเต็มๆ
และมันก็เป็นการแข่งขันอีกครั้งหนึ่งที่ โมโน แวมไพร์ ออกตัวช้า
ในเกมแรก ควอเตอร์ แรก ที่แข่งกับ อากีลาส โมโน แวมไพร์ ก็ค้างอยู่ที่ 7 แต้มอยู่นานก่อนที่จะได้ลูกสามแต้มของ “เจโอ” รัชเดช เครือทิวา ไล่ทำแต้มขึ้นมาได้ ในเกมที่เจอกับ ไฮเทค บางกอก ซิตี้ ก็ทำได้เพียง 14 แต้มในควอเตอร์แรก
มาถึงเกมนี้ พอสินเสียงนกหวีดจบควอเตอร์แรก โมโน ทำได้เพียง 10 แต้ม และตามอยู่ถึง 18-10 โดยทีมสิงคโปร์ สลิงเกอร์ส เล่นทั้งควอเตอร์ โดยไม่เสียเทิร์นโอเวอร์แม้แต่ครั้งเดียว
ทีมสลิงเกอร์สออกตัวค่อนข้างจะเร็วมากในเกมนี้ อาจจะเพราะว่ารับรู้ได้ถึงความเหนื่อยล้าของ แวมไพร์ ไม่ก็ ไปโด๊ปยาที่ไหนมา แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไร สลิงเกอร์สดันบอลขึ้นบุกเร็วทุกๆ ครั้งที่ได้โอกาส มีหลายๆ ครั้งที่ โมโน แวมไพร์เสียเปรียบในเกมสวนกลับ และตั้งตัวไม่ทัน เสียแต้มไปง่ายๆ คาดว่า ตรงจุดนี้ โค้ชเส็ง ก็คงไม่พอซักใจเท่าไหร่
มีหลายๆ ครั้งที่ โมโน แวมไพร์ ต้องป้องกันแบบ 3 จับ 4 หรือ 3 จับ 2 และในครั้งหนึ่งยังมีป้องกันแบบ 1 จับ 4 อีกด้วย ทั้งเกม สลิงเกอร์สได้แต้มจากการฟาสเบรกไป 16 แต้ม
แต่ก็จะติการป้องกันของโมโน แวมไพร์ ทั้งหมดเลยก็ไม่ได้ เพราะเกมนี้ สลิงเกอร์ส เปิดเกมบุกเร็วได้ดีจริงๆ
แต่ โมโน แวมไพร์ ก็ยังคงไว้ลายความ “อมตะ” ในชื่อ “ค้างคาวอมตะ” ไว้ได้ โดยอาศัยการเอาเปรียบการประกบของ เดลวิน โกฮ์ กับ “สิงห” ชนะชนม์ กล้าหาญ แน่นอนว่า ในทางกายภาพ โกฮ์ มีภาษีกว่า สิงห์ อยู่ ด้วยความสูงและน้ำหนัก แต่ด้วยความที่ สิงห์ เป็นตัวเบอร์ 4 ที่เล่นนอกได้ด้วย ทำให้เขาสามารถล่อ โกฮ์ ออกมาให้ห่างจากพื้นที่ใต้แป้นได้ และอาศัยความได้เปรียบด้านความเร็วในการทำแต้ม
นอกจากนี้แล้ว โกฮ์ ยังโดน แวมไพร์กดดันในการบุกครึ่งสนามอีกด้วย ทำให้เสียการครอบครองบอลติดต่อๆ กันหลายครั้ง และ โมโน แวมไพร์ ก็อาศัยการรันแต้มจาก สิงห์ ชนะชนม์ 7 แต้มติดกัน ในการตีตื้นคะแนนขึ้นมา
แต่สลิงเกอร์สยังคงรักษาระยะห่างได้อยู่ โดยยังเล่นเกมบุกสวนกลับเร็วไปอยู่เป็นระยะๆ พอหมดครึ่งแรก แต้มของสลิงเกอร์ส เหลือนำอยู่เพียง 6 แต้ม ที่ 32-26
เกิดเหตุการณ์น่าสนใจจากฝั่งม้านั่งของโมโน แวมไพร์ในช่วงท้ายของครึ่งแรกนิดหน่อย
การแข่งกับทีมสิงคโปร์ สลิงเกอร์ส แน่นอนอยู่แล้วว่ามันต้องเป็นเกมที่เรียกว่า “เปลืองร่างกาย” อาจจะเพราะว่า โมโน แวมไพร์ ไม่ได้เตรียมใจที่จะมากอดรัดฟัดเหวี่ยงกับทีมนี้ หรือ อาจจะเป็นเพราะความล้าสะสมของการแข่งนอกบ้านมา 3 เกม
แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไร มันมีความหงุดหงิดที่แสดงออกมาในบางจังหวะที่เสียงนกหวีดดังขึ้น (และในบางจังหวะที่นกหวีดไม่ดังเช่นกัน)
แน่นอนว่า มันก็มีบางจังหวะอยู่ที่กรรมการอาจจะตัดสินผิด เช่น การเป่าให้บอลผิดทีมบางครั้ง เวลาที่บอลออก หรือ อาจจะมีพลาดจังหวะที่ควรจะได้ฟาวล์บ้าง แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีจังหวะพลาดที่เรียกได้ว่าเป็นจังหวะ “เปลี่ยนเกม” และผลที่กรรมการเป่าพลาด ก็กระทบกับทั้งสองทีม ไม่ได้เอียงทีมใดทีมหนึ่ง
ซึ่งจังหวะที่น่าสนใจคือจังหวะที่ สิงห์ ชนะชนม์กล้าหาญ ถูกเป่าฟาวล์จังหวะ บล็อกกิ้ง
ความรู้สึกในจังหวะแรกคือ “ออฟเฟนซีฟ ฟาวล์” ก็ต้องยอมรับว่าเป็นจังหวะที่ เกือบ ที่จะออฟเฟนซีฟฟาวล์แล้วก็จริง…แต่ทาง สิงห์ มีการขยับตัวในจังหวะสุดท้าย เพื่อให้เกิดการปะทะ ก็เลยทำให้มันเรียกเป็น ออฟเฟนซีฟฟาวล์ไป
หลังจากที่ลุกขึ้นมา สิงห์ ก็ดูผิดหวัง ที่ไม่ได้ฟาวล์ ฝ่ายทีมงานที่ม้านั่งก็ส่งเสียงแสดงความไม่พอใจ แม้แต่ โค้ชเส็งที่ปกติแล้วจะใจเย็น ก็ยังอดไม่ได้ที่จะต้องแสดงความไม่พอใจกับกรรมการ ผู้จัการทีม อภิโชค แซ่โค้ว ถึงกับต้องไปคุยกับกรรมการ ในช่วงเวลาพักครึ่ง เพื่อเคลียร์ความข้องใจ
ถ้ามองในมุมมองกลับกันของแต่ละคน ก็เป็นปฏิกิริยาที่เข้าใจได้ แต่ ผมรู้สึกว่า แต่ละฝ่ายต่างก็ไปหัวเสีย กับ เรื่องตรงนี้ ที่ทำอะไรมากไม่ได้ จนเสียรูปขบวนของเกมไป และแสดงความหงุดหงิดที่อัดอั้นมานานออกมา
หลังจากที่แพ้เกมนอกบ้านอย่างฉิวเฉียดมาสองเกม ก็เข้าใจได้ว่า โมโน แวมไพร์ คงต้องมีหงุดหงิดบ้าง แต่ในเกมนี้ รู้สึกเหมือนมีหลายๆ จังหวะที่ปล่อยให้ความหงุดหงิดตรงนั้น มาเปลี่ยนจังหวะการเล่นของตัวเอง แล้วเสียจังหวะของตัวเองไป
ควอเตอร์ที่สามเริ่มต้นออกมาโดย สลิงเกอร์สค่อยๆทำแต้มฉีกออกไป แต่ทาง โมโน แวมไพร์ ก็ตีตื้นขึ้นมาได้อีกรอบ จนเหลือแต้มต่างเพียงสองคะแนนเท่านั้นแล้ว ที่ 44-42!!!
แต่หลังจากนั้น ก็เหมือนทุกอย่างค่อยๆ พังทลายลงไป ภายในการครองบอล 4 ครั้งติดกันของโมโน แวมไพร์ กลายเป็นว่า พวกเขาทำเทิร์นโอเวอร์ติดๆ กัน 4 ครั้งรวด และจนควอเตอร์ 3 ด้วยการรันแต้ม 10-2 ทำให้สลิงเกอร์สออกนำห่างไปอีกครั้ง เป็น 54-44
แต่ค้างคาวอมตะ ก็ “อมตะ” จริงๆ และทำการไล่แต้มขึ้นมาอีกครั้งด้วยความแม่นระยะสามแต้มของ รัชเดช เครือทิวา ด้วยลูกยิงสามแต้มสุดบ้าคลั่ง ทำให้ทีมตีกลับมาเหลือแค่ 4 แต้มที่ 63-59
แต่สำหรับทีมสลิงเกอร์สที่มีผู้เล่นมากประสบการณ์หลายๆ คน กลับเป็นผู้เล่นวัย 19 ปีที่เพิ่งเล่น ABL ปีแรก ที่จะยิงลูกยิงระยะกลางลงไปสองลูก พร้อมยิงลูกโทษอีก 3 ลูก พาให้ทีมได้ชัยชนะมาจนได้ในที่สุด

กลายเป็นการพ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียดที่น่าหงุดหงิดอีกครั้งสำหรับทีม โมโน แวมไพร์ฺ
โมโน แวมไพร์เป็นทีมที่มีความมุ่งมั่น และ มีเป้าหมายจุดประสงค์ที่ดี…แต่เจอแบบนี้ ก็เข้าใจว่าคงเป็นช่วงเวลาที่ลำบาก และ น่าหงุดหงิดไม่ใช่น้อยเช่นกัน
ความประทับใจหลังเกม
ถึงจะอย่างนั้นอย่างนี้…แต่ตอนนี้ โมโน แวมไพร์ ก็ถือว่าเล่นบาสได้ไหลลื่น และดูดี ผู้เล่นแต่ละคนก็เข้าใจบทบาทของตัวเอง และ เล่นไม่หนีจากบทบาทตรงนั้น แต่อย่างที่เห็นจากเกมกับ ไฮเทค และ เกมนี้กับสิงคโปร์…ก็ค่อนข้างจะชัดเจนว่า ทีมยังขาดตัว “พลิกเกม” แบบ เฟรดดี้ โกล์ดสตีน หรือ คริส โรซาเลส คือ คนที่สามารถเข้ามาในสนามแล้วเปลี่ยนจังหวะของเกมได้เลย
สลิงเกอร์สก็ยังคงสร้างความประทับใจได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ชนะสองนัดต่อกัน การชนะทีมไซ่ง่อน ฮีต ตอนนี้ เริ่มดูดีขึ้นมาบ้าง หลังจากที่ ฮีตไปลากเอา เคแอล ดรากอนส์ เข้าสู่ช่วงต่อเวลา มาคิดดูอีกที ตอนนี้ทีมยังไม่มี เอิง ฮาน บิน และ วู ชิง เด ที่ต่างก็รักษา อาการบาดเจ็บกันทั้งคู่ ซึ่งถ้าสองคนนี้กลับมาก็คงเสริมเรื่องประสบการณ์ ได้พอสมควร
ดูเหมือนว่า สิงคโปร์จะเข้าข่ายทีมม้ามืดอีกแล้ว
สิ่งที่ชอบและไม่ชอบ
- 241
ผมเองก็ไม่รู้ว่าการบุกแบบ “2 แลก 1” ในช่วงท้ายควอเตอร์ เป็นอะไรที่ทำกันรึเปล่าในบาสระดับ ASEAN แต่ก็รู้สึกเหมือนว่า ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก
การบุกแบบ “2 และ 1” เป็นการบุกที่ ครองบอลอยู่ในช่วงเวลาที่เหลือน้อยกว่า 48 วินาที แต่มากกว่า 24 วินาที และเร่งทำการยิงออกไปก่อนที่จะเหลือเวลาน้อยกว่า 24 วินาที
การทำแบบนี้คือการบีบให้ทีมตรงข้ามใช้การครองบอลให้ครบ 24 วินาที และจะทำให้ทีมตัวเองมีโอกาสที่จะได้ครองบอลบุกครั้งสุดท้าย ตรงนี้ก็จะทำให้ทีมของฝ่ายบุก ได้บุก “2 ครั้ง” เพื่อ “แลก” กับ การบุกของอีกทีม “1 ครั้ง” เป็นที่มาของชื่อ 2 แลก 1 หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “ทู ฟอร์ วัน“
ไม่รู้ว่าในครั้งนี้ หว่อง เวย ลอง ตั้งใจที่จะบุกแบบ ทู ฟอร์ วัน หรือ แค่อยากจะยิงจนเต็มแก่ แต่มันก็กลายเป็นผลดี ที่ สิงคโปร์สลิงเกอร์ส ได้แต้มในการบุกครั้งสุดท้ายในเพลย์ต่อไป
- การจ่ายบอลสอดในจังหวะ Pick & Roll ของ “อาร์ม” ณัฐกานต์ เมืองบุญ
ณัฐกานต์ เมืองบุญ ถือว่าจ่ายบอลจากจังหวะ Pick & Roll ได้ดีมากในเกมนี้
แบบว่า ดีมากมากมากมาก เลยแหละ
แต่สงสัยว่าในจังหวะท้ายๆ เกม เขาอาจจะไม่ได้ทำให้สลิงเกอร์สต้องระแวงเกมข้ามเข้าหาห่วง หรือ เกมยิงของเขามากนัก ทำให้เทไปป้องกันตัวสอด คือ แมคเคลน หรือ โอโคลี่ มากขึ้น
แต่ในช่วงต้นเกม การ Pick & Roll ของ โมโน แวมไพร์ ถือว่าเป็นอะไรที่สวยงามมาก
- ความหลงใหลในตัว คริส โรซาเลส

ในเกมแรก ผมก็ไม่ค่อยประทับใจกับ คริส โรซาเลส มากเท่าไหร่ เขาดูราวกับว่า พุ่งไปมาทุกที่…แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทตรงจุดใดจุดหนึ่งเป็นพิเศษ แต่แล้วในเกมที่เจอกับ ไซ่ง่อน ฮีต เขาก็ดุเหมือนว่าจะเล่นดีขึ้นมาก
พอมาในเกมที่เจอกับ โมโน แวมไพร์ เขาก็เล่นดีจนทำเอาผมอึ้งไปเลย เขาไม่ใช่คนที่เล่นฉาบฉวยแบบ เฟรดดี้ โกล์ดสตีน ไม่ใช่คนที่ร่างกายดีจัด อย่าง แมทธิว ไรท์ แล้วก็ไม่ใช่การ์ดจ่ายเพียวๆ แบบ เจสัน บริกแมน แต่ เขาเป็นคนที่มีการเล่นบาสแบบ “คนแก่” คือ มีกลิ่นอายของคนที่เล่นบาสอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะดูจากการเคลื่อนไหว หรือ การเลี้ยงลูก หรือแม้กระทั่งการถือตนนอกสนามอีกด้วย
ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกับการสัมภาษณ์ โรซาเลส หลังจากจบการแข่งขัน และก็เป็นบรรยากาศดีๆ ที่ได้รู้จักเด็กคนนี้มากขึ้น
- บอกแล้วไหมละ
หลังจากที่กินไข่ไปในเกมแรก ลีออน เคว็ก ก็เล่นดีอย่างต่อเนื่องในสองเกมต่อ โดยทำแต้มสองหลักทั้งสองเกมเลย
ผมรู้สึกเหมือนว่าตอนนี้ เคว็ก กำลังพัฒนาไปในทางเดียวกับที่ผมเล่น NBA2K ในโหมด MyPlayer โดยผมจะเริ่มจากการใช้ตัว สมอลล์ ฟอร์เวิร์ด ที่เล่นได้รอบด้าน แล้วค่อยๆ ให้ยิงลูกระยะกลางแม่นๆ ใช้การวิ่งหาจังหวะดีๆ หลังจากนั้น อะไรๆ มันก็จะดีขึ้นตามมาเป็นระยะๆ
อย่างที่ผมได้เขียนใน บทวิเคราะห์ก่อนเริ่มฤดูกาลของทีมสิงคโปร์ สลิงเกอร์ส ว่า “แน่นอนว่า การเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ เขาจะต้องชนกับกำแพงในการปรับตัว แต่เชื่อได้ว่า ก่อนปิดฤดูกาล เขาน่าจะสร้างชื่อให้กับตัวเองได้ไม่น้อยหน้า โล และ หลิว ในปีที่แล้ว“
มันเป็นการแข่งขันเพียงแค่ 3 เกมก็จริง แต่ก็ดูเหมือนว่า เคว็กก็สร้างชื่อให้ตัวเองได้มากพอสมควรแล้ว
ทีมสิงคโปร์ สลิงเกอร์ส จะแข่งกับทีม เคแอล ดรากอนส์ในวันที่ 13 พฤศจิกายน นี้ โดยจะเป็นการพบกันของคู่อริแต่ชาติปางก่อน และจะเป็นการแข่งเหย้าเยือน ติดกันสองเกมที่จะเรียกว่า “The Straits Cup” อาจจะเป็นการแข่งขันของคู่อริที่ดุเดือดยิ่งกว่า คู่ โมโน-ไฮเทค ซะอีก เพราะสองทีมนี้ ฟาดฟันกันมาตั้งแต่ฤดูกาลแรกใน ABL เลย
ส่วนทีม โมโน แวมไพร์ ก็จะลุยเกมนอกบ้าน อีกแล้ว ด้วยการไปเยือน CIS Arena ที่ประเทศเวียดนาม โดยทั้ง ไซ่ง่อน ฮีต และ โมโน แวมไพร์ ต่างก็โหยหาชัยชนะครั้งแรก…แต่มีเพียงทีมเดียวเท่านั้น ที่จะคว้ามาได้
2 thoughts on “ABL Recap x สิงคโปร์ สลิงเกอร์ส vs. โมโน แวมไพร์ : อัดอั้น”