แล้วการแข่งขันบาสเก็ตบอลมาหนึ่งฤดูกาล มันจะมีความหมายอันใด ถ้าเราไม่สละเวลามาชื่นชมคนที่ทำผลงานดีๆ กันบ้าง!
ตัวผมเองก็รู้ว่านักกีฬาแต่ละคนไม่ได้เล่นโดยแสวงหาความสำเร็จเฉพาะบุคคล และ เป้าหมายสูงสุดคือการจบฤดูกาลลงด้วยชัยชนะ (ในนัดชิงชนะเลิศ) แต่มันก็คงรู้สึกขาดๆ เกินๆ ในฐานะคนที่ติดตามมาตลอดทั้งฤดูกาล หากจะไม่ได้แสดงความชื่นชมในจุดที่สมควรจะได้ชื่นชม
เอ้า รออะไรละ ปรบมือตอนรับการประกาศผลรางวัล (อย่างไม่เป็นทางการ) ของฤดูกาล TBL 2015 จาก Tones & Definition ณ บัดนี้!
For English, read here.
มาเริ่มต้นกับสิ่งที่สำคัญที่สุดในกีฬาบาสเก็ตบอลเลยดีกว่า เกมป้องกัน!
ถึงแม้ว่าเป้าหมายของการแข่งขันคือการทำแต้มให้มากกว่าฝั่งตรงข้าม แต่ตราบใดที่เราไม่เสียแต้ม เราก็ไม่มีทางแพ้! นั่นคือความสำคัญของเกมป้องกัน เรามาดูกันดีกว่า ว่าใครที่ทำดีในด้านนี้กันบ้าง
รายชื่อผู้เข้าชิง รางวัลผู้เล่นเกมรับยอดเยี่ยม (ผู้เล่นท้องถิ่น):
“เป้” ชิดชีย อนันติ, โมโน-ทิวไผ่งาม
“เสือ” ภูมินทร์ สิงหเสม, โมโน-ทิวไผ่งาม
ถ้าถามผม รางวัลนี้ ก้ชิงกันอยู่แค่สองคนนี้แหละครับ ด้านนึงก็เป็น เป้ ที่เป็นปีกที่ยืดยาวเก้งก้าง และ เคลื่อนไหวรวดเร็ว อีกด้านก็เป็น เสือ ที่ป้องกันซึ่งๆ หน้า กัดไม่ปล่อย ย่อตัวต่ำ ก่อสร้างความรำคาญให้กับคนถือบอล
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ทั้งเป้ และ เสือ ต่างก็เป็นที่ 1 และที่ 2 ใน TBL ด้านการขโมยบอลต่อเกม โดยอยู่ที่ 3.1 ครั้ง และ 2.3 ครั้งตามลำดับ พวกเขาเป็นหัวหอกของการตั้งรับของโมโน-ทิวฯ ที่บีบให้ทีมตรงข้ามเสียบอลมากที่สุดใน TBL (20.3 เทิร์นโอเวอร์ต่อเกม) สำหรับผู้เล่นที่เล่นเฉลี่ยมากกว่า 10 นาทีต่อเกมนั้น เป้ (7.3%) และ เสือ (ุ6.9%) เป็นที่ 1 และที่ 2 ด้านอัตราการขโมยบอลอีกด้วย ตามลำดับ
Tones & Definition’s TBL 2015 Local Defensive Player of the Year:
ภูมินทร์ สิงหเสม, โมโน-ทิวไผ่งาม
ก็รู้ ว่าทางสถิติแล้ว เป้ ชิดชัย อาจจะดูดีกว่า แต่เราก็ไม่สามารถที่จะอ้างอิงสถิติได้ตลอด โดยไม่มีบริบทมาประกอบ (แม้ว่าทาง Tones & Definition จะพยายามยัดเยียดเรื่องสถิติมากเท่าไหร่ก็เถอะ) แต่สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการป้องกันของโมโน-ทิวไผ่งามคือ จะใช้ เป้ ชิดชัย เป็นตัว “ตะปบ” เขาคือคนที่จะพุ่งออกมาขโมยลูกจ่ายที่จ่ายแบบไม่ระวัง หรือ คว้าลูกที่เลี้ยงมาแบบคลุกคลิก ด้วยความยาวแขนและความคล่องตัว
แต่คนที่จะบีบให้เกิดลูกจ่ายแบบนั้น และ การเลี้ยงลูกมาแบบนั้น คือ ด่านแรกของการป้องกัน นั่นก็คือ เสือ ภูมินทร์ แค่ได้ดูการป้องกันของเสือ ก็รู้สึกอึดอัดแทนคนเลี้ยงบอลแล้ว การป้องกันของเสือ จะบีบให้เหลือพื้นที่ระหว่างคนบุกกับคนป้องกันน้อยที่สุดเท่าที่จะยังทำได้ พอเจอคนมาสกรีน ก็จะตอบสนองอย่างรวดเร็ว อีกอย่างก็คือ เสือสามารถที่จะมุ่งความสนใจกับเกมรับเต็มๆ เพราะ สามารถให้คนอื่นๆ (โดยเฉพาะ เป้ ชิดชัย) มุ่งความสนใจกับเกมบุกได้มากกว่า
รางวัลผู้เล่นเกมรับยอดเยี่ยม (ผู้เล่นต่างชาติ) ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ตัดสินใจอย่างหนักใจพอสมควร สำหรับใครที่ตามอ่านมาโดยตลอดก็จะรู้ว่าตัวผู้เขียนนี้ชื่นชอบเกมป้องกันของสตีฟ โธมัสขนาดไหน ถึงแม้ว่าหลายๆ ครั้งจะไม่มีดัชนีชี้วัดเป็นตัวเลข แต่ในกรณีนี้ ตัวเลขมันมหาศาลเกินกว่าจะมองข้ามจริงๆ…
Tones & Definition’s TBL 2015 Import Defensive Player of the Year:
แอนโธนี่ แมคเคลน, โมโน แวมไพร์
เป็นเรื่องยากที่จะเมินเฉยเสาหลักของเกมรับที่ดีที่สุดในลีกปีนี้ โมโน แวมไพร์ เสียแต้มเฉลี่ยน้อยที่สุดในลีก (61.5 แต้มต่อเกม) อีกทั้งยังมีอัตราการยิงลงของทีมตรงข้ามต่ำที่สุดในลีกอีกด้วย (32.3%) ตัวแมคเคลนเองนั้น บล็อก 2.8 ครั้งต่อเกม ซึ่งมากกว่าจำนวนบล็อกเฉลี่ยต่อเกมของทีม 3 ทีมซะอีก!! อัตราการบล็อกช็อตของเขาอยู่ที่ 9.3% ซึ่งแปลว่า ถ้าบุกเข้าไป 10 ครั้ง จะมีประมาณ 1 ครั้งที่ถูกหวดออกไป ซึ่งนี้ยังไม่รวมถึงลูกที่ไม่โดนตบ แต่ถูกบีบให้ยิงพลาดด้วยความใหญ่และความยาวของแมคเคลน นอกจากนี้แล้ว เขายังทำฟาวล์แค่ 1.1 ครั้งต่อเกมอีก เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะล่อให้เขาทำฟาวล์จนต้องออกจากเกม
แมคเคลนเป็นมนุษย์ที่ร่างกายใหญ่โตมหึมา อย่างที่เห็นมาตั้งแต่ร่วมทีมกับโมโนตั้งแต่แรก ผมเคยจิตนาการว่า การที่บุกเข้าหาแมคเคลนที่ใต้แป้นก็คงไม่ต่างอะไรกับการปะทะโขดหินยักษ์ริมชายฝั่ง ทุกๆ ทีมใน TBL มีจำนวนยิงสามแต้มมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเวลาแข่งกับโมโน แวมไพร์ ทั้งนี้เพราะการบุกเข้าไปข้างในนี่มันยากจริงๆ
Tones & Definition’s TBL 2015 Best Hair of the Year:
ชนะชนม์ กล้าหาญ, โมโน แวมไพร์
จุดนี้ ในเรื่องของ “ทรงผม” ยอดเยี่ยม เราจะไม่เจาะจงแต่เพียงผมบนหัว แต่เอาแบบ หนวดเคราด้วย
ถ้าเป็นรายการ BTSL คงยกรางวัลนี้ให้ “รูเบน วุฒิพงษ์ ดาโสม ไปได้อย่างง่ายดาย จากรูปแบบสีสันของผมที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ เกม แต่ในการแข่งขัน TBL ปีนี้ รูเบน ไม่ได้ลงแข่งเลยในรอบฤดูกาลปกติ จึงอดได้รางวัลนี้ไป
สำหรับพวกชาวต่างชาติ ก็ไม่ได้รับมาพิจารณา เพราะว่า ผมคงตัดสินใจไม่ถูกจริงๅ ระหว่างเครางามของ จอร์แดน คอลลินส์ หรือ เดร็ดล็อกของทั้ง ทีเจ คัมมิงส์ และ แอนโธนี่ แมคเคลน หรือ เคราะแพะของ สตีฟ โธมัส
อย่างไรก็ตามหนวด ผนวกกับทรงผม ของ สิงห์ ชนะชนม์ กล้าหาญ เหมาะสมแล้วกับตำแหน่งนี้จริงๆ ผู้เล่นท้องถิ่นส่วนใหญ่จะออกแนวเรียบๆ ง่ายๆ แต่ สิงห์ก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนตอนนี้เหมือนกับกลายเป็นเครื่องหมายสินค้าไปแล้วด้วยซ้ำ
แต่อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของหนวดเคราตรงนี้ยังมีอีกมาก และหวังว่า สิงห์จะเปิดอกเปิดใจต้อนรับความเป็นไปได้นั้นบ้าง
ปล. หนวดม้วนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนน
สนามแข่งขัน:
ผมได้โอกาสในการไปเยือนสนามแข่งขันเกือบทุกสนาม เว้นเสียแต่สนามที่โรงเรียน อัสสัมชัญธนบุรี เพราะฉะนั้น ผมว่าตรงนี้ผมสามารถให้ความเห็นได้อย่างบริสุทธิใจ
ตัวสนามที่ตึก LED ของการไฟฟ้าก็ถือว่าดี มีเครื่องปรับอากาศสร้างความเย็นฉ่ำ และ มีความรู้สึก “ใหม่” แต่ในหลายๆ ครั้งก็รู้สึกว่ามัน “ใหม่” จนเกินไป ราวกับว่ามันกำลังก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา อีกอย่างคือ มันเป็นสนามที่เดินทางไปลำบากพอสมควร…แต่อย่างน้อยมันก็มีแอร์แหละเนอะ
สนามกีฬาประชานิเวศน์มีจอยักษ์ที่ฉายการแข่งขันสดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเสริมสร้างอรรถรสในการรับชมเกมให้มันส์มากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวะครึ่งๆ กลางๆ หรือ จังหวะในเกมที่สวยๆ แต่ผมไม่ค่อยชอบสนามที่ยกระดับที่นั่งของคนดูไว้สูงกว่านักกีฬา ถึงแม้ว่ามันจะช่วยประหยัดพื้นที่ในการก่อสร้างได้ก็จริง…แต่มันทำให้เสน่ห์ของบาสเกตบอล คือ ความที่สามารถเข้าใก้ชิดกับนักกีฬามากที่สุด ต้องจางลงไป
สนามทุ่มครุมีกลิ่นอายของ “บาส” อยู่โดยรอบ โดยมีรูปภาพและป้ายต่างๆ ที่เฉลิมฉลองความสำเร็จที่ผ่านๆ มาของสโมสรไฮเทคฯ นอกจากนี้แล้วยังมีแอร์อีกด้วย! แต่การเดินทางไปที่สนามค่อนข้างจะหฤโหด โดยที่ห่างจาก BTS หรือ MRT มากพอควร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
Tones & Definition’s TBL 2015 Venue of the Year:
โรงยิมโรงเรียนทิวไผ่งาม
เข้าใจว่าคงแปลกใจว่าทำไมโรงยิมระดับโรงเรียน มัธยม ถึงมาดลบันดาลถูกใจให้ตั้งเป็นสนามแข่งขันที่ดีที่สุดในไทย เห็นบ่นเรื่องแอร์มาตลอด สนามนี้มันก็ไม่มีไม่ใช่เรอะ! แต่โปรดฟังผมก่อน โรงเรียนทิวไผ่งามเป็นโรงเรียนที่ถือได้ว่ามีชื่อเสียง และ ประสบความเร็จในประเทศไทยมากที่สุดที่หนึ่ง ตั้งแต่รุ่นเยาวชน ถึง รุ่นอาชีพ เพราะฉะนั้น การที่ได้อยู่ที่นี่ ทำให้เกิดความรู้สึกถึงออร่า บางอย่าง ของความยิ่งใหญ่ เพราะเป็นสถานที่ที่ผู้เล่นในระดับตำนานหลายๆ คนเคยได้ผ่านตรงนี้ และเติบโตมาจากตรงนี้ โดยรวมแล้ว มันให้ความรู้สึกในการรับชมกีฬาบาสเก็ตบอลที่ดี
ผู้เข้าชิงรางวัลผู้เล่นต่างชาติทรงคุณค่า:
แอนโธนี่ แมคเคลน, โมโน แวมไพร์
สตีฟ โธมัส, ไฮเทค อัสสัมชัญ-ธนบุรี
จอร์แดน คอลลินส์, สโมสรการไฟฟ้าฯ
เอแวน บร็อค, กทม. ไทยเครื่องสนาม
ทีเจ คัมมิงส์, โมโน-ทิวไผ่งาม
คาดาเรียน เรนส์, โมโน แวมไพร์
ถือว่ารายชื่อผู้เลานต่างชาติเป็นรายชื่อที่สั้นอยู่แล้ว เป็นทุ่มเดิม จึงเอาตัวต่างชาติทุกคนที่เล่นมาเกินครึ่งฤดูกาล เพราะฉะนั้น จึงอยากจะขอโทษกับทาง ไมค์ เฟย์, คริส ชาร์ลส์, ลารอน ลามาร์ จอห์นสัน, และ เรมี่ บอซเวลล์ ที่ไม่รับพิจารณาสำหรับรางวัลนี้
ถือว่า เป็นการตัดสินใจที่ตัดตัวเลือกอย่างยากลำบากจนลงมาเหลือแค่ 3 คน คือ แอนโธนี่ แมคเคลน, สตีฟ โธมัส, และ จอร์แดน คอลลินส์ ซึ่งทั้งสามคนทำเฉลี่ย Double-Double ได้ในฤดูกาลนี้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียว ที่ทำให้พวกเขาสมควรได้รับรางวัลนี้
ก่อนหน้านี้ เราได้ให้รางวัลผู้เล่นต่างชาติเกมป้องกันยอดเยี่ยมให้กับ แอนโธนี่ แมคเคลน แล้ว และเพียงแค่นั้นก็มากพอที่จะทำให้เขาถูกพิจารณามาถึงจุดนี้ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว เกมบุกของแมคเคลนก็ถือว่าดุเดือดไม่ใช่น้อยเหมือนกัน อัตราการทำแต้ม 59 eFG% ซึ่งสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ใน TBL ทั้งหมดนี้เป็นผลจากความยักษ์มหึมาของตัวแมคเคลน ที่ทำให้ไม่สามารถหยุดเขาเวลาเขาจะเข้าหาแป้นได้ อัตราการรีบาวด์ของเขา (27.6 TRB%) ที่เป็นอัตราการรีบาวด์ที่สูงที่สุดในลีก ก็ถือว่าเป็นอะไรที่รวบยอดความแกร่งของแมคเคลนไว้ได้อย่างลงตัว
สตีฟ โธมัส ก็ยังคงเป็น สตีฟ โธมัส ที่เล่นได้อย่างรอบด้านเช่นเคย เขาเป็นอันดับสองในบรรดาผู้เล่นต่างชาติ ในด้านการประสิทธิภาพการทำคะแนน (47 eFG%) และมีอัตราการทำคะแนนที่ดี (46.9%) อีกทั้งยังยิงลูกโทษพอใช้ได้ (55.2%) เขายังคงเป็นคนที่รีบาวด์ได้ดีมาก (รีบาวด์มากที่สุดต่อเกมใน TBL ที่ 12.6 ครั้งต่อเกม ด้วยอัตราการรีบาวด์ 23.1 TRB%) แต่จะเน้นไปทางการรีบาวด์เกมรับเป็นส่วนมาก (อัตราการรีบาวด์ฝั่งรับสูงสุดในลีกที่ 33.4 DRB%) คิดว่าคงเป็นผลมาจากที่สตีฟก็เริ่มแก่ตัวลงไปบ้างแล้ว และกระโดดโลดโผนสู้กับหนุ่มๆ ในการรีบาวด์ฝั่งรุกไม่ไหว เท่านี้ยังไม่พอ เขายังเป็นคนที่มีเกมรับที่ดีรอบด้าน โดยเป็น 1 ใน 2 คนในลีกที่ทำได้อย่างน้อย 1 สตีล และ 1 บล็อคต่อเกม (อีกคนคือ คาดาเรี่ยน เรนส์) สิ่งที่น่าจะเป็นจุดเด่นที่สุดและถูกมองข้ามมากที่สุดของเขาคือ การคุมเกม โดยโธมัส มีอัตราการทำแอสิสต์ต่อการเทิร์นโอเวอร์สูงเป็นอันดับ 9 ในลีก (2.11) มีอัตราการทำแอสิสต์ที่ค่อนข้างจะดี (10.5%) และมีอัตราการเทิร์นโอเวอร์ที่ต่ำสุดเป็นอันดับ 3 ในลีก (7.5%) เขาอาจจะยังขาดเป้าในการจ่ายลูกที่เด็ดๆ อย่างคริส ชาร์ลส์อยู่ ทำให้ตัวเลือกการแอสิสต์ลดลงไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังครองบอลและจ่ายได้ดีสำหรับเซนเตอร์ยักษ์ใหญ่แบบนี้
จอร์แดน คอลลินส์ เป็นผู้นำลีกในด้านจำนวนนาทีต่อเกม (38.1) แต้มต่อเกม (21.9) อีกทั้งยังเป็นที่สองด้านการรีบาวด์ (11.6) จากการปรับมาตรฐานการคัดผู้นำด้านสถิติของ NBA มา (NBA: 82 ลูกสามแต้มยิงลง, 125 ลูกโทษยิงลง; TBL: 10 ลูกสามแต้มยิงลง, 15 ลูกโทษยิงลง) จอร์แดน คอลลินส์นั้น นำทั้งในด้านอัตราการยิงสามแต้ม (30.8%, 16 ลูกลง) และอัตราการยิงลูกโทษ (86.0%, พลาดไปเพียง 7 ลูกจากการยิง 50 ครั้ง!) เขาอาจจะไม่ได้เป็นป้อมปราการอย่างสตีฟ โธมัส หรือ แอนโธนี่ แมคเคลน แต่ถ้าแบกรับภาระทางการบุกของทึมมากขนาดนี้ บางที การป้องกันก็อาจจะให้คนอื่นๆ ในทีมเสริมกันไปบ้าง
นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายเลย แต่ก็ต้องทำ
Tones & Definition’s TBL 2015 Most Valuable Import of the Year:
จอร์แดน คอลลินส์, สโมสรการไฟฟ้าฯ
ก่อนที่จะเริ่มจุดเพลิงคอมเม้นต์แสดงความไม่เห็นด้วย (ซึ่งถ้ามีอะไรที่ไม่เห็นด้วย ผมขอสนับสนุนให้คอมเม้นต์แสดงความคิดเห็นเลยนะครับ) แต่อ่านตรงนี้ให้จบก่อน
ใช่แล้ว จอร์แดน คอลลินส์ อาจจะชนะแค่ 5 เกมใน TBL
ใช่ จอร์แดนอาจจะไม่ได้ป้องกันดีมาก จนถึงขั้นที่เรียกว่า “ปล่อยผ่าน” เป็นบางครั้ง
ใช่ จอร์แดน อาจจะดั๊งค์น้อยจนสงสัยว่าเขาดั๊งได้จริงรึเปล่า
ใช่ บางทีคอลลินส์ก็ทำหน้าตาไร้อารมณ์จนเกือบเหมือน ทิม ดังแคน เลยก็ว่าได้
แต่คอลลินส์ ก็แทบจะแบกทีมเองเลยในฤดูกาลนี้ สโมสรการไฟฟ้าฯ เสียตัวทำแต้มหลัก “โอ้” ทศพิธ ลังสุ่ย ให้กับอาการบาดเจ็บที่เข่าตั้งก่อนฤดูกาลจะเริ่ม และ ถึงแม้ว่าจะมีการเสริมผู้เล่นดีๆ มามากมาย แต่ก็ใช้เวลาในการปรับตัวกันพอสมควร การที่มีคอลลินส์ ที่ถือว่าเป็น นักกีฬาที่เล่นได้อย่างคงที่มาตลอด ทำให้เป็นเสาค้ำของทีมได้ จนสามารถช่วยพาทีมเข้ารอบเพลย์ออฟได้ในที่สุด แน่นอนว่า โธมัส และ แมคเคลน ต่างก็ทำผลงานได้อย่างยิดเยี่ยมในปีนี้ แต่ก็ต้องให้เคนดิตกับคอลลินส์สำหรับการเป็นยักษ์ปักหลั่นให้การสโมสรการไฟฟ้าฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
Tone’s & Definition All-TBL 2015 Second Team (เรียงตามลำดับอักษะ):
บัณฑิต หลักหาญ, ไฮเทค อัสสัมชัญ-ธนบุรี
ปฏิภาณ กล้าหาญ, กทม. ไทยเครื่องสนาม
ภูษิต โอภามุรธาวงศ์, กทม. ไทยเครื่องสนาม/ดังกิน แรพเตอร์ส
รัชเดช เครือทิวา, โมโน แวมไพร์
อรรถพร เลิศมาลัยภรณ์, ไฮเทค อัสสัมชัญ-ธนบุรี
การทำรายชื่อ All-TBL เป็นอะไรที่ยากมากๆ เพราะมันหมายถึงการคัดสรร 10 กว่าชีวิต จาก 106 คน กรองกันคร่าวๆ รอบแรก เหลือ 20 คนมาได้แล้ว กว่าจะตัดออกไปเหลือแค่ 10 ก็กลับใจไปๆ มาๆ หลายรอบอยู่ เอาละ ไม่รอช้า เริ่มจากชุด Second Team เลยดีกว่า
ประกาศ: ผมมีความสุข และ สนุกกับการแบ่งปันความคิดเห็นของผมกับวงการบาสไทย แต่ก็ต้องย้ำอีกครั้งว่า ตรงนี้ยังเป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของผมอยู่ ผมไม่ได้มีวุฒิ หรือ สถาปนาตนเป็นผู้ชำนาญการทางบาสเก็ตบอล (แต่ก็คงเท่ดี ถ้าเป็น) ผมก็แค่เพียงคนรักบาสคนนึง ถ้าหากว่าไม่เห็นด้วยกับความเห็นของผมตรงไหน อยากให้มาแชร์ความเห็นให้ต่อเนื่องต่อยอดกันไปมากกว่า จะได้เกิดเป็นกะรแสกันมากขึ้น วงการบาสไทยจะได้ยิ่งเติบโต
มาเริ่มกันกับชื่อใหญ่ๆ ในวงการก่อนละกันกับ “เจโอ” รัชเดช เครือทิวา เขาได้ย้ายมาจาก นครปฐม แมดโกทส์ มาซบ โมโน แวมไพร์ มาด้วยบทบาทที่ค่อนข้างชัดเจน “ยิงให้ฟ้ารั่วเลยลูกพ่อ” และเจโอก็ทำได้ดี อย่างต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ปี้นี้ เจโอ ทำอยู่ที่ 8.2 แต้ม 4.3 รีบาวด์ และ 1.7 แอสสิสต์ต่อเกม เขายังคงแม่นราวกับจับวางจากเส้นโทษ โดยยิงอยู่ที่ 81.3% อีกทั้งยังเป็นมือปืนระยะสามแต้ม สามอันดับแรกของ TBL อีกด้วย (27.9%, 17 ลูกยิงสามแต้มลง) บางทีเขาก็ยังอาจจะฝืดๆ บ้าง แต่ก็ไว้ใจกันได้เสมอในยามเกมคับขัน กับ ลูกยิงสามแต้มปลิดวิญญาณท้ายเกม ความหวือหวาของเขาอาจจะลดลงไปมาก จากสมัยที่เล่นกับ แมดโกทส์ แต่ประสิทธิภาพไม่ได้หายไปไหน ระบบของ โมโน แวมไพร์นั้น อาศัยการใช้พื้นให้เป็นประโยชน์ค่อนข้างมาก เพื่อให้ตัวข้ามเข้าหาห่วง และ แอนโธนี่ แมคเคลนทำงานได้เต็มที่ ซึ่ง เจโอ และชื่อเสียงด้านความแม่นของเขาก็ช่วยในการสร้างพื้นที่ว่างดังกล่าวได้ดีมาก
คนที่สองในรายชื่อก็ยังเป็นชื่อดังในวงการ ก็คือ “นพ” อรรถพร เลิศมาลัยภรณ์ การที่ติดตามอรรถพรมาตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ให้ความรู้สึกเป็นเรื่องราวที่เสริมสร้างกำลังใจให้กับชีวิตดี ตั้งแต่อยู่ในช่วงการเคาะสนิมกับการเล่นใน TBL 2014 จนกระทั่งเปิดตัวได้อย่างสุดยอดกับ ABL 2014 และจบ ABL 2014 ด้วยลูกยิงสามแต้มที่เด็ดขาดเลือดเย็นมากๆ ทำให้ได้แชมป์มา ตั้งแต่นั้นมา อรรถพร ก็ถือว่าเป็นคนที่แสดงผลงานออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นอะไรที่มีค่ามากสำหรับไฮเทคฯ ในเวลานี้ ฤดูกาลที่ผ่านมานี้ อรรถพรทำไป 11.3 แต้มต่อเกม และ 4.9 รีบาวด์ต่อเกม สิ่งหนึ่งที่ไฮเทคฯ ได้มาจาก อรรถพร ไม่น้อย คือ ความสามารถในการเอาลูกโทษ โดยเขาเป็นอันดับสองในบรรดาตัวผู้เล่นื้องถิ่น สำหรับจำนวนครั้งในการยิงลูกโทษ (5.4 ครั้งต่อเกม) อีกทั้งยังยิงแม่นด้วย (74.1%) ตอนนี้เขาอาจจะอายุมากขึ้นอีกแล้ว และก็ไม่ใช่ อรรถพร จอมเหินหาวคนเดิม แต่เขาก็ยังคงดึงดูดความสนใจล่อเอาฟาลว์ของตัวป้องกันวงนอกได้อย่างดu
ต่างจากสองคนที่กล่าวข้างต้น “พีซ” บัณฑิต หลักหาญ ถือว่าเป็น นักกีฬาในช่วงวัยที่กำลังเข้าสู่จุดสูงสุดพอดี เขาเป็นอันดับที่ 2 ใน TBL ว่าด้วยอัตราการทำแอสสิสต์ต่อเกม (3.00) อีกทั้งอัตราการทำแอสิสต์ (19.2 AST%) และอัตราส่วน Assist/TO (1.93) ที่อยู่ในกลุ่มจ่าฝูงของลีก บัณฑิต อาจจะไม่ใช่คนที่ทำแต้มกระจุยกระจาย และอาจจะจบแต้มใกล้แป้นยังไม่นิ่งเท่าไหร่ แต่เขาก็ยิงแม่นทั้งลูกโทษ (87.5%) และระยะสามแต้ม (39.1%) ไฮเทคก็ถือว่ามีการ์ดที่ใช้การได้หลายคน ทั้ง มานะ จันทุมา, โสภณ พินิจพัชรเลิศ, กัณวัฒน์ เลิศเลาห์กุล, และ ศุภชัย สังข์ทอง แต่ บัณฑิตนั่น เป็นคนเดียวที่อายุต่ำกว่า 27 ถือเป็นแกนหลักของไฮเทคต่อไป
หนุ่มที่ยังแน่นอีกคนที่ติดโผมา คือ ตัวเด่นของ กทม. ไทยเครื่องสนาม “ปาม” ปฏิภาณ กล้าหาญ ซึ่งเขาก็ได้เล่นใน TBL มาตั้งแต่ปีที่แล้วเช่นกัน ถึงแม้ว่าเขาอาจจะเสริมความแกร่งวงนอกให้กับไฮเทคฯ ได้มากกว่า หากเขาได้เล่นที่นั่น แต่ทางทีมบริหารก็เล็งเห็นแล้วว่า พัฒนาความมั่นใจกับการเรียนรู้บทบาทการเป็นตัวทำคะแนนหลักที่ทีม กทม. ไทยเครื่องสนามคงดีกว่า ปฏิภาณใช้การครองบอลทั้งหมด 24.1 USG% ซึ่งก็อยู่ในระดับเดียวกันกับ นพพร แสงทอง และ อรรถพร เลิศมาลัยภรณ์ และเขาก็ใช้โอกาสที่ได้นั้นจบคะแนนได้ดี ฤดูกาลที่ผ่านมานี้ เขาทำแต้มไป 12.22 แต้มต่อเกม โดยเป็นการทำแต้มที่หลากหลายทั้งจากข้างใน และ ข้างนอก (ดูได้จากอัตราการยิงสามแต้มที่ดูดีพอตัวที่ 35%) อีกทั้งยังยิงลูกโทษได้ดีอีกด้วย (65%) เขาอาจจะไม่ใช่แกนหลักของเกมป้องกันของ กทม. ไทยเครื่องสนามแต่เขาก็ทำหน้าที่ได้ดีในการเป็นตัวป้องกันช่วย ดูได้จากตัวสถิติการบล็อก 0.89 ครั้งต่อเกมที่สูงสุดในบรรดาผู้เล่นท้องถิ่น เช่นเดียวกันกับอัตราการบล็อกที่อยู่ในกลุ่มจ่าฝูงเช่นกัน (2.8 BLK%) แต่ทั้งหมดนี้ ก็ยังต้องพิจารณาว่า เขายังเป็นโครงการการพัฒนาที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะอายุแค่ 20 ปีเท่านั้น เขาน่าจะเป็นส่วนประกอบที่ดีสำหรับไฮเทคฯ ในอนาคต และหวังว่าอาจจะได้เห็นฟอร์มของเขาใน ABL ต่อ
สำหรับคนสุดท้ายนี้ หลายๆ คนอาจจะแปลกใจซักหน่อย แต่โปรดฟังฉันก่อน กับ กรณีของเจ้าหู “เคน” ภูษิต โอภามุรธาวงศ์
อย่างเพิ่มแตกตื่น อ่านก่อนๆ
เข้าใจ ว่า เคนเล่นให้กับสองทีมที่มีผลงาน ชนะ 0 ครั้งเมื่อเจอกับทีมที่เขารอบเพลย์ออฟ
เข้าใจ ว่า แม้แต่ตอนที่เล่นกับ กทม. ไทยเครื่องสนาม เขาก็ไม่ได้เฉิดฉายขนาดนั้น (แต่อัตราการแอสสิสต์ 25% และ อัตราการขโมยบอล 5.7% ก็ถือว่าไม่เลว)
รู้ว่าเขาไม่ได้ทำให้ทีมชนะได้เลยแม้แต่เกมเดียว ตอนเล่นให้แรพเตอร์ส แต่ดูสถิติของเขาตอนเล่นให้แรพเตอร์สซะก่อน
16.8 แต้ม, 3.6 รีบาวด์, 3.0 แอสิสสต์, 1.6 สตีล, 30.8% ยิงสามแต้ม, ประสิทธิภาพการทำแต้ม 44 eFG%, และ อัตราการแอสิสสต์ 25.2%
ตลอดทั้งฤดูกาล มีผู้เล่นเพียง 16 คนที่ทำแต้มได้มากกว่า 84 แต้ม (รวมทั้งตัวต่างชาติด้วย) ซึ่งเป็นจำนวนแต้มที่ เคน ทำได้ในแค่เพียง 5 เกมกับ แรพเตอร์ส
มีผู้เล่นเพียงสองคนที่สามารถทำเฉลี่ย 3 รีบาวด์ และ 3 แอสิสต์ คือ ดรัญพงศ์ อภิรมย์วิไลชัย จาก โมโน-ทิวไผ่งาม และ อีกคน คือ ภูษิต คนนี้แหละ
แน่นอนว่าทั้งหมดมันก็ไม่ได้โปรยด้วยกลีบกุหลาบ เคน ทำเทิร์นโอเวอร์ มากที่สุดในลีก อยู่ที่ 4.6 ครั้งต่อเกม นอกจากนี้ ภูษิต ยังใช้จำนวนการครองบอลอยู่ที่ 30.7% อีกด้วย ซึ่งถ้าหากให้ผู้เล่นคนอื่นได้มาครองบอล ในอัตราเดียวกัน ก็อาจจะมีสถิติที่คล้ายกันได้
แต่อย่างไรก็ตาม นี่มันเด็กที่ยังอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์เลย ทำได้ขนาดนี้ ก็ต้องมีชมกันหน่อย
จบลงไปในส่วนนี้ กับ ภาคแรกของ การประกาศรางวัลอย่างไม่เป็นทางการของTBL 2015
ติดตามชมกับภาคต่อไป และ ภาคจบ เร็วๆ นี้!!
One thought on “Tones & Definition ผลรางวัล TBL 2015: ภาคแรก”