Thai Am Legend: ลูกครึ่งไทยเทศ และ อนาคตของวงการบาสไทย

เมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่แล้ว ผมได้ทำบทความ พรีวิว ทีบีแอล ฤดูกาลนี้ไว้ และ ณ ตอนนี้ ผมก็มั่นใจในตัวเองพอสมควรนะ ว่าข้อมูลที่ใส่ไว้ ค่อนข้างเพรียบพร้อม และ แน่นหนา แล้ว

ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ปลดปล่อยบทความออกสู่สาธารณะไป ก็มีโทรศัพท์เข้ามาผมสายนึงจากสายข่าวคนนึง และการสนทนาครั้งนั้นก็ทำให้ผมตระหนักขึ้นมาทันทีว่าจริงๆ แล้ว ผมก็ไม่ได้รู้อะไรเท่าไหร่เลย

“เฮ้ย พี่เพิ่งอ่านบทความเอ็งไปตะกี๊” สายข่าวคนนั้นกล่าวผ่านเสียงโทรศัพท์มา “เอ็งรู้ไหมเนี่ย ว่าจริงๆ แล้ว ไอ้โมเสส มอร์แกน มันเป็นลูกครึ่งไทยนะ”

For English, Read here.

จริงๆ แล้ว การที่จะมีนักบาสเป็นลูกครึ่ง ไทย-เทศ ก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่หรอก ความรักเป็นสิ่งที่สวยงาม และไร้ขอบเขต การที่จะมีหนุ่มหรือสาวไทยซักคนไปหลงรักกับชาวต่างชาติซักคน แล้วมีลูกออกมาเป็นนักบาส…ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก จริงๆ แล้ว นอกจาก โมเสส มอร์แกน ก็มีนักบาส ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน อีกคน ที่ติดตามอยู่ และทีมชาติไทยเราตอนนี้ก็มีลูกครึ่งคนหนึ่งที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงการอยู่แล้วอีกด้วย

แต่สิ่งที่ทำให้กรณีของ โมเสส มอร์แกน นั้นน่าสนใจ และแตกต่างออกไปคือ โมเสส เป็นนักบาสที่มีประสบการณ์ในการเล่นในระดับที่ถือว่าค่อนข้างสูง (คือระดับ NCAA ดิวิชั่น 1) และนานทีมีหน ที่นักบาสระดับนี้จะบินข้ามน่านน้ำมาเล่นบาสอาชีพที่ไทย โดยไม่ใช่ในฐานะตัวอิมพอร์ต แต่เป็นฐานะผู้เล่นท้องถิ่น

โมเสสอาจจะไม่ใช่นักบาสในระดับดาวดังดาวเด่นในระดับมหาวิทยาลัยที่อเมริกา แต่เขาก็มีบทบาทในทีมที่แน่นอน และ เขาก็ทำตามบทบาทได้ดี โดยที่เล่นจนจบปีสาม ที่มหาวิทยาลัย เดพอล ก่อนที่จะย้ายไปเรียนให้จบที่ มหาวิทยาลัย แคล สเตต ฟูเลอร์ตัน มอร์แกนเล่นเป็นตัวส่องไกลประจำทีม และก็ยิงสามแต้มไปประมาณ 30% ตลอดระยะเวลาการเล่น

Moses Morgan, Left. (Picture Credit: Dalje.com)
โมเสส มอร์แกน (ซ้าย) (Picture Credit: Dalje.com)

ตอนเขาเรียนจบ มัธยมปลาย ทาง ESPNU ได้จัดให้เขาเป็น สมอลล์ฟอร์เวิร์ดที่ดีที่สุดในประเทศเป็นอันดับที่ 29

แต่แล้ว ตอนนี้ เขากำลังเล่นให้ในนามทีมสโมสรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ใน ทีบีแอล

เป็นการเดินทางพลิกโผพลิกผันไม่ใช่น้อยเลย


ในฐานะแฟนบาสชาวไทย ผมว่าเราทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับชื่อ โค้ช โจ “เจลลี่บีน” ไบรอันท์ กันแน่นอน โค้ชโจ (ไม่ใช่ โค้ชสุนทรพงษ์ มะวิญธร!!) เป็นโค้ชคุมทีม แบงค็อก คอบบร้าส์ และ ทีมช้างไทย สแลมเมอร์ส ใน เอเซียนบาสเกตบอลลีก อีกทั้งยังนำถ้วย เอบีแอล ภายใต้การคุมของโค้ชโจ ผู้เล่นหลายๆ คนก็ดูเหมือนจะได้ทักษะเพิ่มขึ้นในแบบก้าวกระโดด
ถึงจะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่โค้ชโจจะย้ายถิ่นฐานไปคุมทีมที่ญี่ปุ่น แต่เราก็หารู้ไม่ว่า โค้ชโจยังเหลือของขวัญ 1 ชิ้นทิ้งไว้ให้กับวงการบาสไทย

Picture Credit: Chalinee Thirasupa
Picture Credit: Chalinee Thirasupa

บทสนทนาระหว่างผมกับนักกีฬาแต่ละคนต่อจากนี้ จะถูกแปลมาจากการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษนะครับ

“เขา และ พ่อของผม เป็นเพื่อนซี้กันพอสมควร” โมเสสได้กล่าวถึงโจ ไบรอันท์ ไว้กับผม “ผมรู้จักกับโจมาหลายปีแแล้วแหละ”

ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของวงการบาสไทย ที่ป๋า วินส์ตัน มอร์แกน (พ่อของโมเสส) นั้นเป็นเพื่อนที่ดีกับโค้ชโจ

“มีหลายๆ คนติดต่อมาหาพ่อของผม แล้วบอกว่า ถ้าผมมีเชื้อไทยจริงๆ ผมสามารถที่จะติดต่อทำ passport เพื่อมาเล่นเป็นนักกีฬาสัญชาติไทยที่นี่ได้ พ่อของผมก็เลยติดต่อหาโค้ชโจทันที เพราะเขารู้ว่าตอนนั้น โค้ชโจ คุมทีมอยู่ที่นี่” โมเสสได้อธิบายให้ผมฟังเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตจากแคลิฟอร์เนีย มาที่ บางกอก กับทีมสโมสรการไฟฟ้าฯ “พ่อผมถามโจว่ารู้จักทีมที่ต้องการผู้เล่นซักคนไหม และนั่นคือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้มาร่วมมือกับ คุณพีท อภัยสุวรรณ และมาลงเอยที่ สโมสรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค”

โมเสสนั้น หน้าตาละม้ายคล้าย จอห์น วอลล์ การ์ดชื่อดัง ของ วอชิงตัน วิซาร์ด ของ NBA แต่กลับไม่ค่อยมีความคล้ายคลึงกับคนไทยเลย ด้วยส่วนสูง 6 ฟุต 6 นิ้วอีก ยิ่งทำให้เชื่อยากขึ้นไปอีก ว่า โมเสส นั้นเป็น “คนไทย”

“ผมนับได้จาก หนึ่งถึงสิบ กล่าวขอบคุณ และ กล่าวสวัสดีได้” โมเสสตอบผมมาแบบนี้ ตอนที่ผมถามเรื่องความสามารถในการพูดภาษาไทย  “แต่ก็พูดได้เท่านั้นแหละ”

เมื่อได้ถามถึงอาหารไทยจานโปรดของโมเสส เขาก็ตอบมาว่า ตอนอยู่ที่อเมริกา แม่ของเขาชอบทำ ข้าวเหนียว กับ เนื้อแดดเดียวให้กินตั้งแต่เด็กๆ แล้วเขาก็ชอบมาก

และคุณแม่ ณโลบลทิตย์ พุทธพรหมราช นี่แหละ คือกุญแจที่สำคัญที่สุด สำหรับเรื่องราวของโมเสส มอร์แกน

“แม่ของผมเกิดที่นี่ และ ได้ถูกเลี้ยงดูมากับครอบครัวคนไทย” โมเสสบอกไว้เกี่ยวกับแม่ของตัวเอง “แม่ผมเองก็เป็นคนผิวสีครึ่ง และ คนไทยอีกครึ่ง เพราะว่าคุณแม่มีทั้งสัญชาติไทย สูติบัตรไทย และ บัตรประชาชนไทย ทำให้ผมสามารถเดินเรื่องในการทำ passport เพื่อมาเล่นบาสอาชีพที่ไทยได้ง่ายมากขึ้น”

และนั่นคือเรื่องราวของ โมเสส มอร์แกน การเดินทางข้ามน่านฟ้าข้ามทะเลมาเพื่อเล่นบาสที่ไทย


ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องชื่นตาชื่นใจสำหรับแฟนบาสชาวไทย ที่ได้เห็นผู้เล่นระดับ โมเสส มอร์แกน ข้ามมาเล่นบาสที่ไทย แต่ก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่า เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องโชคชะตาช่วยพอสมควร ก่อนหน้าที่จะมานี้ วงการบาสเก็ตบอลในประเทศไทย สำหรับ โมเสส นั้น ไม่มีตัวตนอะไรเลย

“พูดตรงๆ เลย ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับวงการนี้เลยแหละครับ ไม่ได้รู้ว่ามีทีมอะไรบ้างในลีกนี้ ไม่รู้แม้แต่ว่ามีลีกนี้ด้วยซ้ำ” โมเสสได้กล่าวไว้เกี่ยวกับบาสเกตบอลที่ประเทศไทย “ผมไม่เคยนึกถึงเรื่องบาสที่ไทยมาก่อนที่จะได้ passport เลยด้วยซ้ำ”

ลองนึกดูสิ ว่าถ้า วินส์ตัน มอร์แกน ไม่ได้รู้จักกับ โจ ไบรอันท์ จะเป็นอย่างไรบ้าง
โมเสสก็จะไม่ได้มีโอกาสที่จะรับรู้ว่า ซีกโลกนี้ก็มีวงการบาสเกตบอลเช่นกัน และเขาก็จะไม่มีวันได้มาใส่ชุดม่วงทองของสโมสรการไฟฟ้าฯ

ลองนึกดูแล้ว ถ้าวงการบาสไทยขาดตรงส่วนนี้ไป…มันก็น่าใจหายเหมือนกันนะ


มาทำความรู้จักกับ ไทเลอร์ แลมบ์ กันดีกว่า

ไทเลอร์ แลมบ์ เรียนจบ มัธยมปลายในปีเดียวกับ โมเสส มอร์แกน คือ จบในปี 2010 และตอนที่ ไทเลอร์จบนั้น ทาง ESPNU ได้จัดให้เขาเป็น ชูตติ้งการ์ด อันดับ 5 ในประเทศ แถมยังได้เป็นผู้เล่นอันดับที่ 28 ในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย (ไม่แบ่งตำแหน่ง) แลมบ์ได้ไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ มหาวิทยาลัยชื่อดังด้านบาส UCLA และได้เล่นเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้เล่นอย่าง

– ไคล์ แอนเดอร์สัน (ผู้เล่นทรงคุณค่า NBA Summer League ที่ผ่านมา)
– นอร์แมน พาวเวล (ตัวเลือกจาก Draft ของ โตรอนโต แรพเตอร์ส)
– ชาแบซ มูฮัมหมัด (ปีกของมินิโซต้า ทิมเบอร์วูลฟ์

Gary A. Vazquez-US PRESSWIRE
Gary A. Vazquez-US PRESSWIRE

แต่เขากลับโชว์ผลงานได้ไม่ดีเท่าที่คาดหวังไว้ และก็ได้ทำเรื่องเพื่อย้ายที่เรียน คล้ายๆ กับโมเสส มอร์แกน โดยทางแลมบ์ไปลงเอยที่ มหาวิทยาลัย ลอง บีช สเตท

ทันทีที่ย้ายไป แลมบ์ ก็ระเบิดฟอร์มออกมาให้เห็น และซัดไป 15.4 แต้ม, 3.6 รีบาวด์ และ 2.2 แอสสิสต์ต่อเกม จนได้รางวัล 5 ผู้เล่นยอดเยี่ยมชุดที่สอง ในลีกบิ๊กเวสต์

Picture Credit: Long Beach State University
Picture Credit: Long Beach State University

“แล้วไทเลอร์ แลมบ์นี่มันเกี่ยวอะไรด้วยละฟะ”

มันเริ่มต้นจากความคลั่งไคล้ในวงการบาสฟิลิปปินส์ของผมเอง ผมได้เห็นลูกครึ่งฟิลิปปินส์วาดลวดลายเริ่งร่าในสนามมาแล้วนักต่อนัก ไม่ว่าจะเป็น สแตนลี่ พริงเกิ้ล, โมอาล่า เตาตัว, คริส บานเชโร่, เอเวอรี่ ชาเรอร์,  ฯลฯ ผมจึงเกิดความคันและสงสัยว่า ไม่มีนักบาสลูกครึ่งไทย-เทศ บ้างเลยรึไง?!

และจุดประสงค์นั้นก็ดลใจให้ไปพบกับกระทู้นี้ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อจริงๆ ที่ไทเลอร์ แลมบ์นั้น จะถูกเหล่าแฟนๆ บาสฟิลิปปินส์ หมายหัวกันไว้ตั้งแต่ปี 2009 แล้ว และเมื่อมีคนปล่อยข่าวออกมาว่า แลมบ์ “น่าจะ” เป็นลูกครึ่งฟิลิปินส์ ห้องสนทนาก็แทบจะแตก ณ ขณะนั้นหลายๆคนได้วาง แลมบ์ ไว้เก่งกว่า แมต รอสเซอร์ (ปีกหน้าใหม่ตัวเก่งของ ทอล์กแอนด์เท็กซ์) และ บ็อบบี้ เรย์ พาร์คส์ (ที่เล่นใน NBA Summer League กับดัลลัส แมฟเวอริกส์) ซะอีก

แต่แล้วก็เกิดเรื่องเมื่อมีคนที่รู้จักเพื่อนของ แลมบ์ ออกมายืนยันว่าจริงๆ แล้วแม่ของแลมบ์ ไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ หากแต่เป็นคนไทย!! แล้วบทสนทนาเรื่อง แลมบ์ก็จบแค่ตรงนั้น และคนในกระทู้ก็เบนตวามสนใจและหันไปยกยอ รอสเซอร์ และ พาร์คส์แทน

และโพสต์ท้ายๆ ที่ว่าด้วย แลมบ์ ก็ปิดฉากอย่างตลกๆ แบบนี้

thailer
“บ๊ายบาย ไทย-เลอร์ แลมบ์!! :)”

แต่นั่นมันตั้งแต่ปี 2009 ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาจากตอนนั้น จะไม่มีคนไทยที่ไหนที่จะแว่บผ่านเข้าไปอ่านแล้วทำอะไรกับเรื่องราวเด็ดๆ แบบนี้เลยเรอะ! แต่การที่มันไม่มีใครขุดเรื่องนี้เจอเลย ก็ค่อนข้างจะบ่งบอกได้ว่า วงการบาสไทยของเราตอนนี้ อาจจะยังแคบกว่าที่ควรจะเป็นจริงๆ

หรือจริงๆ แล้ว หลายๆ คนอาจจะเป็นแบบผมก็ได้ ผมเจอบทสนทนากระทู้นี้ตั้งแต่ปี 2014 แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย เพราะติดคำถามง่ายๆ ว่า “แล้วจะทำยังไงต่อละ”

จนกระทั่งได้พบเจอกับ โมเสส มอร์แกน ถึงเพิ่งจะกล้าทำอะไรต่อ


หลังจากที่ได้รู้ข่าวเรื่องสัญชาติของโมเสส มอร์แกน ใจผมก็รีบวิ่งไปที่ ไทเลอร์ แลมบ์ ต่อทันที อย่างแรกเลยก็ออกให้แน่ใจ ว่า แลมบ์ นั้น มีเชื้อชาติไทยปนอยู่จริงหรือไม่ ทำให้ผมได้เจอกับ ทวีต กันนี้ จากปี 2012

แปล: ครั้งแรกเลยที่ยายบินมาดูผมเล่น จาก เมืองไทย มาที่จีน #FOE #Thai #Love

จากทวีตนี้ ก็ค่อนข้างจะตีความได้ว่า ยาย ของแลมบ์เป็นคนไทยได้ละ ซึ่งมันก็ทำให้ผมมั่นใจมากพอที่จะ mention ทวีตใส่ซักหน่อย ลองหยั่งเชิงดู

แปล: พูดลอยๆ ว่า ไทเลอร์ แลมบ์ นั้นเป็นลูกครึ่งไทย จริงไหมหว่า แล้วเขาสนใจจะมาเล่นทีมชาติไทยไหมเอ่ย

จากใจเลย ก็ไม่ได้กะว่า แลมบ์ จะมาตอบ เพราะส่วนใหญ่แล้ว มักจะไม่ค่อยมีใครตอบทวีตที่ mention ลอยๆ แบบนี้กันหรอก แต่และแล้ว หนึ่งวันต่อมา ผมก็ตื่นมาเจอกับ ทวีตนี้:

สรุปตัดจบแล้ว ได้ความว่า ไทเลอร์ แลมบ์ เป็นลูกครึ่งไทยจริง…แล้วให้ตายเถอะ เขาสนใจจะเล่นทีมชาติไทยซะด้วยสิ


ไทเลอร์เองก็ไม่ได้ต่างกับโมเสสเท่าไหร่หรอก…ไม่ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับวงการบาสที่ไทยเลย

“ฮ่ะๆ! สารภาพเลย ว่าไม่รู้อะไรเลยจริงๆ” ไทเลอร์ได้ตอบ ตอนที่ผมถามว่ารู้จักวงการบาสที่ไทย “ตลกดีนะ วันก่อนผมเพิ่งคุยกับลุงไปหยกๆ แล้วลุงก็บอกว่า ที่ไทยไม่ค่อยเล่นบาสกันเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เขาเตะบอล กับ เล่นมวยไทยกัน”

แต่เช่นเดียวกับ โมเสส เขาก็รู้ตัวเกี่ยวกับสัญชาติผสมของตัวเองมาแต่เนิ่นๆ แล้ว

“ครอบครัวทางฝั่งแม่ของผมมาจากกรุงเทพฯ และ ย่าของผมเองก็ยังอยู่ที่นั่น้ลย ผมมีครอบครัวส่วนนึงอยู่ที่เชียงใหม่ด้วย” ไทเลอร์ได้เล่าเกี่ยวกับครอบครัวของเขา “แต่ผมก็ไม่ได้ไปไทยมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบแล้วแหละ”

ตลกยิ่งกว่านั้นคือ ในปีสุดท้ายของการเล่นระดับมหาวิทยาลัยนั้น ทั้งคู่เล่นให้กับมหาวิทยาลัยที่สังกัดในลีก บิ๊ก เวสต์ (ซึ่ง แลมบ์ เล่นให้ ลอง บีช สเตท และ มอร์แกน เล่นให้ แคล สเตท ฟูลเลอร์ตัน) ก็เป็นความบังเอิญที่สองคนนี้ ได้เคยฟาดฟันกันในสนามมาแล้ว นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังเล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็กอีกด้วย

“จริงปะเนี่ย? โมเสสเนี่ยนะ?!” ไทเลอร์ได้อุทานออกมา ตอนที่ผมบอกเขาไปว่าตอนนี้ โมเสสเป็นลูกครึ่งไทย และ เล่นอยู่ใร ทีบีแอล

“ไทเลอร์นี่แหละ ใช่เลย,” โมเสสได้กล่าวไว้เกี่ยวกับไทเลอร์ “ผมก็มีติดต่อหาเขาอยู่บ่อยๆ เพราะรู้ว่าเขาเองก็เป็นลูกครึ่งเหมือนกัน”

และนั่นก็คือสถานภาพปัจจุบันของบาสไทย อาจจะมีลูกครึ่งมากมายที่อาจจะเข้ามามีบทบาทในวงการนี้ได้…แต่พวกเขากลับไม่รับรู้ถึงสภาพของวงการนี้เลยแม้แต่นิดเดียว


และสองคนก่อนหน้านี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

สวัสดี จัสติน แบสซี่

Picture Credit: Courtcred.com
Picture Credit: Courtcred.com

การ์ดสูง 6 ฟุต 4 นิ้ว ปีที่แล้วทำเฉลี่ย 24 แต้ม, 10 รีบาวด์, 6 แอสสิสต์ และ 3 สตีล ปีที่แล้วตอนที่เรียนอยู่ มัธยมศึกษาปีที่ 5 เขาเป็นนักเรียนเกรด 4.00 ตลอดเท่าที่ผ่านมา และเขาได้ตกลงรับทุนนักกีฬาบาสจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดอีกด้วย
ตอนนี้เขาเพียงกำลังขึ้น ม. 6 เท่านั้น

นอกจากนี้แม่ของเขายังเป็นคนไทยอีกด้วย!!! (อ้างอิงจากบทความนี้) โดยที่พ่อเป็นชาวไนจีเรีย

เขาอาจจะยังไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเท่ากับ มอร์แกน หรือ แลมบ์ แต่เชื่อได้ว่า เขาต้องเป็นผู้เล่นที่ดีได้แน่ๆ


คิดว่าตอนนี้ ทุกคนน่าจะมีคำถามเดียวกันปักหมุดไว้อยู่ตรงกลางสมอง:

แล้วพวกเขาทั้งหมดนี้เล่นให้ทีมชาติไทยได้ไหม?

Picture Credit: Onvisa Thewphaibgarm
Picture Credit: Onvisa Thewphaibgarm

เราก็เห็นมาแล้ว กับ “รูเบน” วุฒิพงษ์ ดาโสม นักบาสจอมเหินหาว ชาวไทย-ไอริช ที่เป็นขาประจำของทีมชาติไทยมาตลอด แล้วสำหรับลูกครึ่งอื่นๆ นี้ มันจะมีปัญหาไหมละ?

คำตอบคือ…มี และ ไม่มี

กรณีของรูเบน จะต่างกับกรณีของนักบาสลูกครึ่งคนอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพราะว่า รูเบนนั้นโตมาที่ไทยตั้งแต่เด็กๆ แล้ว และก็มี passport ไทยมานานแล้ว แต่สำหรับคนอื่นๆ…

เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ทาง ฟีบ้า (FIBA) มี กฏ สำหรับผู้เล่นที่ถือสองสัญชาติ:

ทีมประจำชาติที่จะลงแข่งขันในรายการแข่งขันของ FIBA นั้น จะมีสิทธิเรียกผู้เล่นที่ได้รับสัญชาติอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ไม่ว่าจะด้วยการโอนสัญชาติ หรือ วิธีการอื่นๆ หลังจากอายุสิบหก (16) ปี ได้เพียง 1 คนเท่านั้น

ซึ่งกฏนี้เป็นกฏที่ทำให้ จอร์แดน คลาร์กสัน การ์ดดาวรุ่งของ ลอง แองจาเลส เลเกอร์ส ไม่สามารถเล่นให้ ทีมชาติ ฟิลิปปินส์ ในฐานะคนท้องถิ่นได้ แม้ว่าแม่ของเขาจะเป็นคนฟิลิปปินส์ก็ตาม ตามกฏแล้ว ถ้าจะอยากเล่นให้กับทีมประจำชาติ ก็ต้องไปแสวงหาเอา ยassport ประเทศนั้นมาให้ได้ก่อนอายุ 16 ปีด้วย

ก็หวังว่าผมจะผิดนะ แต่ผมคิดว่า ทั้ง แลมบ์ มอร์แกน และ แบสซี่ ไม่น่าจะได้ passport ก่อนที่อายุจะครบ 16 ปีกัน

เพราะฉะนั้น ตอบตรงนี้เลยว่า ไม่ ทุกคน ไม่สามารถที่จะลงเล่นให้ทีมชาติ ในรายการแข่งขันเดียวกัน อย่างน้อยๆ ก็สำหรับรายการแข่งที่ FIBA สนับสนุนอยู่ เพราะฉะนั้น ใครที่วาดฝันจะได้เห็นทีมที่มี แบสซี่ แลมบ์ มอร์แกน รูเบน และสุขเดฟ…ก็ฝันสลายไปก่อนละกัน

dreamteam

แต่!!!! สำหรับรายการแข่งขันหนึ่งรายการ ทีมชาติไทยสามารถที่จะเรียกตัวคนใดคนหนึ่งจากกลุ่มลูกครึ่งนี้มาเสริมทัพได้! ซึ่งนี้เป็นผลประโยชน์จากกฏที่กล่าวไว้ข้างบน ถึงแม้ว่าจะได้พาสพอร์ตหลังจากที่อายุครบ 16 ปีบริบูรณ์ก็จริง แต่ ก็ยังถือได้ว่าเป็นสัญชาติไทยตามกฏของการ “โอนสัญชาติ” ที่จะมีผู้เล่นในเกณฑ์นี้ได้หนึ่งคนต่อหนึ่งรายการแข่งขัน

ถ้ายังมึนๆ และตามไม่ทัน ลองนึกถึงทีมชาติฟิลิปปินส์ ที่ผ่านๆ มาสำหรับใน ซีเกมส์ ทีมชาติฟิลิปปินส์ ก็จะมี มาร์คัส เดาธิต ที่ไม่ได้ใช่คนฟิลิปินส์ แต่ได้รับการโอนสัญชาติจากทางรัฐบาล ดังนั้นเขาจึงร่วมเป็นส่วนนึงของทีมชาติฟิลิปปินส์ได้

เช่นเดียวกันกับอดีตนักบาส NBA อังเดร แบลทช์ เขาได้รับการโอนสัญชาติฟิลิปปินส์ในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้น เขาเองก็เป็นส่วนนึงของทีมชาติฟิลิปปินส์ได้ อย่างที่จะได้เห็นในรายการแข่งขัน FIBA เอเชีย ที่จะถึงนี้

แต่พวกเขา ไม่สามารถลงแข่งขันในรายการเดียวกันได้

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าเล็กน้อย ที่คงไม่ได้มีโอกาสที่จะเห็นทีมชาติที่เพียบพร้อมไปด้วยลูกครึ่งสามคนนี้ แต่อย่างน้อย ก็อาจจะมีโอกาสได้เห็น คนใดคนหนึ่งมาเสริมทัพบาสไทยได้เป็นรายการๆ ไป


เรื่องราวทั้งหมดนี้ ผมตื่นเต้น และสนุกกับมันนะ ที่ได้เขียนออกมา…แต่มันจะกลายมาเป็นความจริงได้หรอ?

เราได้เห็นแล้วในกรณี ของ โมเสส มอร์แกน ว่า มันเป็นไปได้ แต่มันก็ต้องใช้ความพยายามในการทำให้มันเกิดขึ้นได้หน่อย

เหล่าลูกครึ่งฟิลิปปินส์ที่มาเพ่นพ่านในย่านนี้ตัดสินใจที่จะมา ส่วนนึงก็เพราะว่าพวกเขารับรู้ได้ถึงความรักกีฬาบาสของชาวฟิลิปปินส์ได้ แล้วก็เหล่าทีมในฟิลิปปินส์เอง ก็พร้อมที่จะเทเงินให้เหมือนกัน

สำหรับเมืองไทย การที่ดึงดูด กลุ่มลูกครึ่งไทย-เทศ มาวาดลวดลายในไทย ในฐานะแฟนๆ เราก็ต้องแสดงออกมาให้เห็นว่า เรารักกีฬานี้มากขนาดไหน ยอมถวายหัวให้กีฬานี้ได้มากขนาดไหน แล้วยิ่งแสดงความร้อนแรงนี้ออกมาเท่าไหร่ กลุ่มผู้ลงทุนก็จะกล้าลงทุนมากขึ้นเท่านั้น ก็จะมีเงินทุนมาจ้างทั้งผู้เล่นท้องถิ่น และ ผู้เล่นไทย-เทศ เหล่านี้อีกด้วย
ยิ่งเรารักกีฬานี้กันมากเท่าไหร่ ก็มีแต่คนอยากมาเล่นให้เราดูมากขึ้นเท่านั้น

บางคน อาจจะ เอะใจแล้วถามในใจว่า “แล้วทำไมเราต้องมาพึ่งพวกลูกครึ่งพวกนี้ด้วยวะ นักกีฬาไทยแท้ๆ ของเราเองก็เจ๋งสุดๆ อยู่แล้วนี่ แค่นั้นไม่พอหรอ?”

ก็ทำได้นะ ต่ถ้าเราอยากจะก้าวข้ามไปอีกขั้นในระดับภูมิภาค การที่จะสามารถรวบรวมกำลังพลจากทั่วมุมโลกมาได้ ก็เป็นเรื่องที่จะช่วยเสริมได้มาก เราได้เห็นมาแล้วกับทีมชาติกัมพูชา ที่มีกองทัพลูกครึ่งเกือบครึ่งทีม และผมก็รู้สึกว่ามันก็ออกมาในรูปแบบที่ค่อนข้างน่าประทับใจและดูมีศักยภาพให้คาดหวังได้อีกมาก เราได้เห็นกันมาบ้างในเหล่าลีก เอบีแอล และ การแข่งขันระดับชาติกับมือ ว่า ขุมกำลังลูกครึ่งนั้น ก็มีความน่ากลัวในตัวของมันอยู่

ผู้เล่นท้องถิ่นของเรา ผมเองก็มั่นใจในฝีมือ…แต่ลองนึกสภาพดูว่า ถ้าได้ผนึกกำลังกับผู้เล่นที่มีประสบการณ์การเล่นในระดับสูงเกือบที่สุดของประเทศเจ้าของกีฬานั้น…ผมว่า มันเป็นภาพที่น่าตื่นเต้นไม่ใช่น้อยเลยนะ

แล้วคุณละ คิดว่ายังไง?

ปล. ขอแก้ไขในส่วนข้อมูลของโค้ช โจ นิดนึงนะครับ โค้ช โจ ไม่เคยได้แชมป์ ABL แต่เป็น โค้ช ต้องเกียรติ สิงหเสนี ที่คว้าแชมป์ ABL แรก ขออภัยสำหรับข้อมูลที่ผิดพลาด ณ ที่นี้ด้วยครับ

Advertisement

5 thoughts on “Thai Am Legend: ลูกครึ่งไทยเทศ และ อนาคตของวงการบาสไทย

  1. เป็นข้อเขียนที่เยี่ยมมากครับ ทำให้ตามลุ้นว่า จะมีนักบาสเจ๋งๆ มาเล่นให้ไทยได้หรือเปล่า

  2. บางทีการมาของลูกครึ่งอาจจะจุดไฟให้กับวงการบาสไทยก็ได้

    1. การแชร์บทความออกไปให้ทุกคนได้อ่านก็จุดไฟให้กับวงการบาสไทยได้บ้างเช่นกันครับ
      ขอบคุณที่ได้ร่วมติดตามอ่านครับ : )

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.