อย่างที่น่าจะทราบกันแล้ว ประเทศไทยนั้นจะเข้าร่วมการแข่งขัน ซีเกมส์ ในช่วงวันที่ 5 ถึง 16 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีการจัดแข่งที่สิงคโปร์
รู้ว่าทุกคนคงกำลังตื่นเต้นอยู่กับกีฬา วูชู และ ปันจัก สีลีท ผมก็อยากจะมาแจ้งเตือนด้วย ว่า ซีเกมส์จะมีแข่งบาสเก็ตบอลเด้วย!
For English, read here.
ทีมชาติไทยนั้นก็จะส่งทีมบาสเก็ตบอลชายร่วมลงแข่งเช่นเดียวกัน หลังจากที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในรายการ ชิงแชมป์ SEABA ที่ผ่านมาช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ซึ่งผมคิดว่าทางชุมชนบาสเก็ตบอล ASEAN ยังคงอยากได้คำอธิบายที่ชัดเจนว่าทำไมไทยถึงได้ไม่ลงร่วมการแข่งในรอบนี้ เพื่อป้องกันแชมป์ที่คว้ามาได้จาก เมดาน ในปี 2013)
รายชื่อนักกีฬา 15 คนนั้นออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี และทางทีมชาติก็ได้เริ่มทำการฝึกซ้อมกันแล้ว
และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ นี้ ก็ได้ปล่อยรายชื่อ 12 คนสุดท้ายออกมา ดังนี้
อรรถพร เลิศมาลัยภรณ์ (หัวหน้าทีม)
สุขเดฟ โคเคอร์
วัฒนา สุทธิสินธุ์
วุฒิพงษ์ ดาโสม
ดรงค์พันธ์ อภิรมย์วิไลชัย
ดรัญพงศ์ อภิรมย์วิไลชัย
รัชเดช เครือทิวา
ชนะชนม์ กล้าหาญ
กานต์ณัฐ เสมอใจ
ดนัย คงคุ้ม
ธีรวัฒน์ จันทะจร
ณัฐกานต์ เมืองบุญ
มาดูแยกกันตามตำแหน่งเลยดีกว่า
ในที่นี้เราจะใช้ตำแหน่งง่ายๆ คือ การ์ด ปีก และ เซนเตอร์
การ์ด
ณัฐกานต์ เมืองบุญ/กานต์ณัฐเสมอใจ/ดรัญพงศ์ อภิรมย์วิไลชัย
พอถึงเวลาจริงๆ แล้ว ทาง “ปาล์ม” ดรงค์พันธ์ และ “คานู” วัฒนา สุทธิสินธุ์ น่าจะได้เวียนมารับบทการ์ดจ่ายเป็นครั้งคราว แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้บัญชาการทัพในสนาม น่าจะไม่พ้นสามคนนี้
“อาร์ม” ณัฐกานต์ และ “บาส” กานต์ณัฐ นั้น ผมคิดว่าเป็นการจับผสมจังหวะการเล่นที่น่าสนใจดี
อาร์มเป็นการ์ดจ่ายตัวหลักของทีม นครปฐม แมดโกทส์ที่มีจังหวะการเล่น (Pace) ที่สูงที่สุดในรายการ BTSL รอบอินเตอร์ ที่ผ่านมา แต่เขาก็นำทัพได้อย่างใจเย็น ดูจากตัวผู้เล่นแล้ว ทีมชาติไทยชุดนี้ ควรที่เล่นเกมเร็ว ซึ่งก็เหมาะกับเกมของอาร์มดี
ในอีกด้านนึง ก็จะเป็น กานต์ณัฐ ซึ่งอาจจะเป็นตัวจุดประกายในเกมรุกของไทยได้เหมือนกัน เขาเป็นผู้เล่นที่มีจินตนาการสูง อีกทั้งยังเล่นกับระบบเกมช้า เซ็ทครึ่งสนาม เวลาเล่นกับ โมโน แวมไพร์
เพราะฉะนั้น ถ้าหากไทยอย่างสับเปลี่ยนจัง หรือ มีลูกเล่นเพี้ยนๆ พี่บาสก็จัดให้ได้เลย
ทั้งคู่เป็นคนที่อ่านเกมออก และจ่ายบอลได้ดี โดยทั้งคู่ติดในรายชื่อ แอสสิสต์สูงสุดใน BTSL รอบอินเตอร์ (รอบคัดเลือก) พี่บาสมีอัตราการแอสสิสต์สูงถึง 22.67% และในขณะที่อาร์มมีอัตราการแอสสิสต์แค่ 14.95% แต่ก็ต้องพิจารณาไว้ด้วยว่า ในรอบนี้ อาร์มรับบทบาทการทำแต้มมากขึ้นจากการพักตัวอื่นๆ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างนึง คือ อัตราการทำ Turnover ของพี่บาสอยู่ที่ 28.15% ซึ่งถือว่าสูง แต่ก็อย่างว่า บางทีจินตนาการสูงแล้วคนอื่นๆ ยังอาจจะตามไม่ทัน
มาถึงจุดนี้ ยังไม่ทันได้เอ่ยถึง “ปอย” ดรัญพงศ์ อภิรมย์วิไลชัย เลย ดูจากชื่อก็น่าจะรู้แล้วว่า เป็นแฝดอีกฝานึงของ “ปาล์ม” ดรงค์พันธ์ อภิรมย์วิไลชัย เจ้าของรางวัล ผู้เล่นทรงคุณค่า ประจำรายการ BTSL รอบอินเตอร์
แต่สองคนนี้มีรูปแบบการเล่นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ในขณะที่พี่ปาล์มจะเป็นคนที่ข้ามเข้าหาแป้นอย่างหนักแน่น พี่ปอยดูเหมือนจะเล่นนิ่งๆ เรียบง่ายมากกว่า
ในรายการ TBL2014 นั้น พี่ปอยทำสถิติอัตราการทำแอสสิสต์ต่อเทิร์นโอเวอร์ ไว้สูงถึง 5.5 ครั้งต่อเกม และเสียการครองบอลแค่ 4 ครั้งในการลงเล่น 9 นัด แต่ทั้งหมดนี้ พี่ปอยก็ได้ลงสนามไม่นานเท่าไหร่นัก และข้อมูลที่เรามีอยู่ในมือตอนนี้ ก็ไม่สามารถวิเคราะห์ออกมาได้อย่างชัดเจนเท่าไหร่
ตำแหน่งการ์ดจ่ายนี้ จะเป็นตำแหน่งที่ สำคัญมาก ในการแข่งซีเกมส์ครั้งนี้ ตัวเต็งอย่างฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย นั้น ได้โชว์ให้เห็นในรายการ SEABA ที่ผ่านมาว่า พวกเขาชอบที่จะกดดันการ์ดจ่ายของทีมฝ่ายตรงข้ามแต่เนิ่นๆ แต่ก็เชื่อว่า อาร์ม พี่บาส และพี่ปอย น่าจะวางใจได้
ปีก
อรรถพร เลิศมาลัยภรณ์/วัฒนา สุทธิสินธุ์/วุฒิพงษ์ ดาโสม/ดรงค์พันธ์ อภิรมย์วิไลชัย/รัชเดช เครื่อทิวา
ตรงนี้แหละ คือจุดขาย และจุดที่จะใช้กดดันทีมตรงข้ามของทีมชาติไทย
ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมว่า ไทยนี้มีผู้เล่นในตำแหน่งปีกที่หลากหลาย และ มากความสามารถที่สุดใน ASEAN ยกเว้น ฟิลิปปินส์ (ยกให้พี่แกเถอะ เวลานี้) ผมเชื่อว่าการรวมตัวของห้าประจัญบาน 5 ท่านนี้ จะเป็นอะไรที่ทำให้เกมรับของฝ่ายตรงข้ามต้องสับเปลี่ยนแผนเกมรับตามอย่างต่อเนื่อง
“เจโอ” รัชเดช เครือทิวา ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการ Isolation ที่ต้องการแต้มจริงๆ ถึงแม้ว่าผลงานในช่วงรอบคัดเลือกของ BTSL จะขึ้นๆ ลงๆ (น่าจะเพราะกำลังปรับตัวกับสถานะคุณพ่อมือใหม่) แต่ในรอบชิงชนะเลิศ พี่เติ้ลก็เล่นได้ดี
“คานู” วัฒนา สุทธิสินธุ์ เองก็มีสัญชาตญานการล่าแต้มที่ไม่น้อยหน้า เจโอเลย ถึงแม้ว่าทักษะการครองบอลของพี่นูอาจจะไม่ได้พริ้วไหวหวือหวาเท่าเจโอ แต่ในด้านการทำแต้ม พี่นูนั้นทำแต้มได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก หากได้อ่านบทความในบล็อกนี้มาเรื่อยๆ ก็จะรู้ว่า การทำแต้มของพี่นู อยู่ในระดับเดียวกับว่า draft อันดับหนึ่งของลีก ฟิลิปินส์ อย่าง โมอาล่า เตาตัว และ ดาวดัง ลูกครึ่งอเมริกัน ของเวียดนาม อย่าง เดวิด อาร์โนล์ด ในหลายๆ ครั้ง เขาอาจจะวู่วามไปหน่อย เห็นได้จากอัตราการเสียการครองบอลที่สูงพอสมควร (20.2% ใน ABL) แต่นั่นน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ พี่นูอยู่ในโหมดการทะลุทะลวงอยู่ตลอดเวลาซะมากกว่า
“ปาล์ม ดรงค์พันธ์ เป็นคนที่ทำแต้มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดใน TBL2014 ที่ผ่านมาโดยมีอัตราการทำคะแนน TrueShooting% อยู่ที่ 62% ซึ่งถือว่าบ้าคลั่งมาก การบุกของพี่ปาล์มจะเน้นไปที่การล่อฟาวล์เอาลูกโทษ และการทำแต้มใกล้ห่วง ซึ่งมองไปในมุมนึง ก็คล้ายๆ กับตาเครา เจมส์ ฮาร์เดน (แต่ไม่มีการยิงสามแต้มนะ) ในรอบอินเตอร์ของ BTSL พี่ปาล์มสับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นตัวกระจายบอลมากขึ้น และเขาก็มีอัตราการทำแอสสิสต์สูงที่สุดในรายการอยู่ที่ 30.7% และเป็นอันดับ 4 ในด้านของการทำแอสสิสต์ต่อ เทิร์นโอเว่อร์ อยู่ที่ 2.83 ถือว่าเป็นคนที่เล่นอย่างมีประสิทธิภาพ และรอบด้านพอสมควร
น่าจะเคลียร์กันไปหลายรอบแล้ว กับการกล่าวว่าเกมบุกของรูเบน ณ ขณะนี้ ยังคงพึ่งพาทักษะทางร่างกายของเขามากอยู่ แน่นอนว่า ในจังหวะ ฟาสเบรก หรือ จังหวะที่ได้ข้ามเข้าหาห่วงโล่งๆ เกมบุกของรูเบนดูดีมาก แต่พอต้องสร้างจังหวะเอง หรือ ต้องยิงนั้น มันแลดูอึดอัดอัดอั้นพอสมควร
ตั้งแต่แข่ง ABL เป็นต้นมา รูเบนมีอัตราการยิงลูกสามแต้มลงอยู่ที่ประมาณ 18%-22% เท่านั้น แต่เขาก็ยังยิงประมาณ 2 ครั้งต่อเกม หลายๆ ครั้งที่จังหวะยิงเหล่านั้นมันเปิดว่าง เพราะว่าทีมป้องกันยอมที่จะปล่อยลูกยิงแบบนั้นให้ แต่ถ้าลองเอาสถิติการยิงสามแต้มทั้งหมดของรูเบนออกไป ประสิทธิภาพการทำคะแนน (effective Field Goal%) ของเขาใน ABL จะสูงกว่าคนที่ทำได้สูงสุด คือ จัสติน น็อกซ์ (56%) ไปได้อย่างขาดลอย โดยจะอยู่ที่ 65% เลยทีเดียว!!!!
ก็ไม่ได้แปลว่าจะให้รูเบนละทิ้งเกมยิงสามแต้มไปโดยสิ้นเชิง แต่ทางทีมงานผู้ฝึกสอนก็ต้องระวังในการจัดกระบวนทัพ ให้มันเกิดโอกาสที่รูเบนจะว่างในการยิงสามแต้มบ่อยๆ แต่มาถึงชุดทีมชาตินี้ บทบาทของรูเบนที่สำคัญๆ นั้น ผมเห็นว่าจะไปตกในเกมป้องกันมากกว่า อยากจะให้มีสถิติ On/Off Defensive Ratings เสียจริง แต่การเก็บสถิติระดับนั้นในไทย ยังทำกันไม่ถึง คำกล่าวอ้างต่อไปนี้ จึงอาจจะดูลอยๆ แต่ก็จะยกขึ้นมาอยู่ดีว่า รูเบน นั้นเป็นตัวป้องกันที่จัดว่าดีที่สุดในไทย ณ ขณะนี้คนนึง ก็ต้องติดตามดูการประกบของรูเบนกับ บ็อบบี้ เรย์ พาร์คส์ ของฟิลิปินส์ ไอแวน โยว ของมาเลเซีย และ การกัดจิก หว่องเวยลอง ของสิงคโปร์ เป็นครั้งคราว
ดาบสุดท้ายของชุดปีกนี้ คือ กัปตันทีมผู้มากประสบการณ์ “นพ” อรรถพร เลิศมาลัยภรณ์ วันหวานอันหวานชื่นของเจ้า “จิ้งเหลนไฟ” อาจจะผ่านไปแล้ว แต่พี่นพก็ยังมีบทบาทในฐานะผู้นำทีม อีกทั้งยังสามารถยิงสามแต้มปลิดชีพได้อยู่เรื่อยๆ (อัตราการยิงสามแต้มลง 39% ใน ABL นั้นไม่ใช่ขี้ๆ เลย จะบอกให้) คุณค่าในความเป็นผู้นำของพี่นพเป็นอะไรที่วัดออกมาให้เห็นได้ยาก แต่นั้นแหละคือคุณค่าของพี่นพสำหรับทีมนี้
การที่มีปีกร่างสูงยาวอยู่ในทีมถึงสามคน ผมก็อยากที่จะเห็นทีมชาติไทยลองยืน สี่ตัวนอก ในการแข่งขันครั้งนี้ ความแข็งแกร่งของทีมชาติไทยชุดนี้ น่าจะขึ้นอยู่กับว่า เขาจะดึงพลังจากความสามารถที่หลากหลายของผู้เล่นตำแหน่งปีกพวกนี้ออกมา ผสมผสานได้มากขนาดไหน
เซนเตอร์
สุขเดฟ โคเคอร์/ดนัย คงคุ้ม/ชนะชนม์ กล้าหาญ/ธีรวัฒน์ จันทะจร
ทีมชาติไทยนั้นส่งรายชื่อผู้เล่นที่เรียกได้ว่าเป็นผู้เล่นวงใน 4 คน แต่ทั้งสี่คนนี้ ก็ไม่ได้ถือว่า “ใหญ่” มาก แต่สิ่งที่พวกเขามี คือ ความไว สุขเดฟ และ ดนัย น่าจะคุ้นเคยกับการเล่นตำแหน่งตัว 4 แบบไวๆ ด้วยการเล่นขนาบข้างไมเคิล เฟย์ และ สตีฟ โธมัส มาแล้ว ทั้งสองคนเป็นที่เคลื่อนขาได้เร็ว และมีท่าไม้ตายก้นหีบอย่าง สปินมูฟ ด้วย นอกจากนี้ ความสามารถในการยิงระยะกลาง ก็ถือว่าดีพอสมควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงไม่ได้เห็นเขาเหล่านั้น หันหลังไถตัวกันเข้าใกล้ห่วงเท่าไหร่นัก ตำแหน่งเซนเตอร์ของทีมชาติไทย แตกต่างกับตำแหน่งปีก เพราะว่า ความหลากหลายทางความสามารถมีไม่มากเท่าไหร่
สุขเดฟถือเป็นคนที่รีบาวด์ได้ดีมากคนนึง (เป็นคนที่มีอัตราการรีบาวด์ สูงที่สุดในบรรดาผู้เล่นท้องถิ่นใน ABL อยู่ที่ 12.3%) แต่ส่วนที่เหลือยังดูเหมือนจะขาดๆ เกินๆ นิดหน่อย พี่นัยก็ถือว่าค่อนข้างบางเกินกว่าจะฟัดฟันเก็บรีบาวด์ตลอด พี่สิงห์ก็เหมือนจะมีจังหวะที่ช้ากว่าคนอื่นก้าวสองก้าว น้องบิ๊กมีร่างกาย และศักยภาพทางร่างกายที่พร้อมมาก แต่ตอนนี้ยังดูเหมือนว่าพึ่งศักยภาพทางร่างกายนั้นมากเกินไปอยู่หน่อยๆ
ส่วนสุดท้ายที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการป้องกัน แน่นอนว่ากับทีมระดับล่าง ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในทีมระดับกลาง (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย) นั้น อาจจะทำให้เจ็บปวด ทีมในระดับนี้ จะมีนักกีฬาร่างใหญ่ๆ ที่จะมาปะทะได้เรื่อยๆ ไม่ต้องพูดถึงทีมระดับสูง (ฟิลิปินส์) ที่มี มาร์คัส เดาธิท ที่สูง 6 ฟุต 11 นิ้ว มี นอร์เบิร์ต ตอเรส ที่สูง 6 ฟุต 8 นิ้ว แต่กว้างมาก มี ทรอย โรซาริโอ้ ที่สปริงปีศาจควาย และแขนขายาวมาก และยังทีการเสริมเอา อาร์โนล์ด แวน ออปสตาล เซนเตอร์ร่างสูงที่เพิ่มดึงมาติดทีมหลังจากไม่ติดกับชุด SEABA ที่ผ่านมา
มองดูแล้ว งานเกมวงในน่าจะหนักหนาไม่ใช่เล่นเลย
มุมมองโดยรวม
ไทยก็คงคล้ายๆ กับทีมอื่นๆ ในชุมชน ASEAN คือเป็นทีมที่หนักวงนอก ซึ่งก็เป็นผลมาจากรูปร่างลักษณะของคนในพื้นที่นี้ ที่มีรูปร่างเล็ก ในระดับทีมชั้นกลางนั้น ทีมที่ตัวผู้เล่นวงในสามารถที่จะเล่นได้ดี และ โชว์ผลงานได้ดีนั้น น่าจะมีโอกาสต่อกรกับ ฟิลิปปินส์ได้ดีที่สุด
ตำแหน่งปีกเป็นตำแหน่งที่ทีมชาติไทยควรจะโฟกัสตรงจุดนี้ และเดินเกมบุกจากจุดนี้ ระดับของความสามารถ ความหลากหลาย และ จำนวนนั้น น่าจะหาทีมที่มาเทียบได้ยาก
การเล่นของเกมการ์ดนั้นก็มีผลสำคัญ แต่ตราบที่การ์ดไทยสามารถตีเพรสของทีมอื่นแตกได้ ก็ไม่น่ามีปัญหาเท่าไหร่นัก…แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าการ์ดหลักสองคนของไทยนั้น ต่างก็แบกข้อมือที่หักได้มาไม่เกินปีมาทั้งคู่
ถ้าไทยจะชนะ นั่นจะเป็นเพราะว่า ความแข็งแกร่งของตำแหน่งปีก
ถ้าตัววงในเล่นได้ดี ก็จะส่งผลช่วยได้มาก
แต่ถ้าแพ้แล้ว น่าจะเป็นเพราะการ์ดโดนกดดันจนขึ้นรูปเกมไม่ได้
สิ่งที่อยากเปลี่ยน
ด้วยทรัพยากรที่มีในตำแหน่งปีก ตัวผมอยากเห็นทีมชุดนี้เล่นสี่นอก อาจจะวนรูเบน เจโอ หรือ พี่นพ ไปเล่นตัว 4 เป็นครั้งคราวได้ และตัวพี่นัยเองก็เล่นตำแหน่งตัว 4 เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
แต่ถ้าจะวิ่งแบบนี้ คงต้องตัดพี่สิงห์ ชนะชนม์ ออก เพราะว่า เขาจะน่าจะชินกับระบบเกมครึ่งสนามมามากกว่า และความสามารถทับซ้อนกับตัว 4 ตัวอื่นด้วย ผมคงเสียดายกับบทบาทตัวบู๊ของพี่สิงห์ แต่มองดูแล้ว ทีมชุดนี้ คงไม่ได้มานั่งปะทะบู๊คลุกในมากเท่าไหร่นัก….อยากให้วิ่งสู้ฟัดซะมากกว่า
ซึ่งมันก็มาถึงคนที่สองที่อยากเปลี่ยน ก็คือ พี่ปอย ดรัญพงศ์ ออก
ถ้าคิดจะวิ่ง 4 นอกจริงๆ ก็อยากจะเล่นเพรส และ วิ่งสวนอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น จึงอยากได้การ์ดจี๊ดๆ วิ่งสู้ฟัด และเป็นตัวก่อความรำคาญให้กับการ์ดฝ่ายตรงข้าม ตรงจุดนี้ อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับพี่ปอยเท่าไหร่
ตัดออกไปสองคน ก็ต้องเอาสองคนมาเสียบเสริม
คนแรกที่จะเติมเข้ามาก็คือ ธวัชชัย สุขทับ ซึ่งเป็นคนที่ถูกตัดจากชุด 15 คน เขาเป็นปีกที่ขยัน และแข็งแรง ทำแต้มได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก (อัตราการทำแต้ม TrueShooting% อยู่ 65% ใน TBL2014 และ 57% ใน BTSL รอบอินเตอร์) ด้วยการทำแต้มทั้งจากวงในและวงนอก
คนที่สองที่จะดึงเข้ามาแทนนี่ลังเลอยู่พอสมควร ชั่งใจอยู่นานระหว่าง โสฬส สุนทรศิริ/สุชล ไหมธรรมพิทักษ์/กัณวัฒน์เลิศเลาหกุล ซึ่งทั้งสามคนนี้ ต่างก็เป็นการ์ดที่ไว และป้องกันได้น่ารำคาญดี
แต่แล้วคนแรกที่ต้องตัดใจไปคือ กัณวัฒน์ ที่มีปัญหาอาการบาดเจ็บที่เข่า อีกทั้งยังทำการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ TBL ABL ดิวิชั่น 1 เรื่อยมาจนถึง BTSL สำหรับตำแหน่งนี้ คงต้องการความสดมากกว่านี้
จากตัวเลือกรุ่นใหม่ไฟแรงสองคน ผมตัดสินใจที่จะไม่เลือก ผู้เล่นทรงคุณค่า TBL2014 อย่างโสฬส สุนทรศิริ แต่กลับเลือกเอา สุชลไหมธรรมพิทักษ์แทน
โสฬสเป็นการทำแต้มที่มีความไวสูงก็จริง แต่พอมาถึงจุดนี้ในรายชื่อนักกีฬาแล้ว อยากได้คนที่คุ้นเคยกับการกระตุ้นเกมบุกจากม้านั่ง (สุชล) มากกว่าคนที่คุ้นเคยกับการกำกับเกมบุกตลอดทั้งเกม (โสฬส)
ข้อความทั้งหมดก่อนหน้านี้ เป็นเพียงแค่มุมมองส่วนตัวว่า จะวางแผนกับทีมชาติชุดนี้ยังไง ด้วยบทบาทที่มีอยู่
นี่หาใช่การบอกว่า “นี่คือชุดทีมชาติที่ควรจะเป็นชุดทีมชาติที่ดีที่สุด ต้องฟังฉันเท่านั้น!”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็นของชายหนุ่มขี้เบื่อคนนึง
ปล. บทความทั้งหมดข้างต้นนี้ ได้พยายามที่จะผูกเอาข้อมูลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้สิ่งที่เขียนไป หลายๆ อย่างอาจจะอ้างอิงมาจากความรู้สึกบ้าง ไม่มากก็น้อย
ซีเกมส์จะจัดแข่งในช่วงวันที่ 5-16 มิถุนายน ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยกีฬาบาสเก็ตบอลนั้นจะแข่งขันในช่วงวันที่ 9-15 มิถุนายน โดยแข่งขันรอบรองชนะเลิศวันที่ 14 และรอบชิงชนะเลิศวันที่ 15 โดยจะแข่งขันที่สนาม OCBC Arena และมีการถ่ายทอดสดผ่าน Youtube
แล้วเจอกันครับ
อ่าน Preview ของทีมชาติอื่นๆ ใน SEA Games 2015 ได้ตาม Link ต่อไปนี้เลยครับ
9 thoughts on “SEA Games Preview: ปีกคชสาร”