การเป็นหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในสังคมที่มีรูปแบบรากฐานที่คงตัวอยู่แล้วนั้นเป็นอะไรที่ยาก มีทั้งเข้าแบบเปรี้ยงปร้างเป็นพลุแตก ไม่ก็ลอยผ่านไปเบาๆ ราวสายลม
จอน คาเธย์-แม็คลินนั่นเข้ามาเป็นระเบิดปรมาณูเลย
For English: Click Here
ผมเองก็เคยเป็นไอ้หนุ่มหน้าใหม่แบบนั้น ตอน ป. สี่ ผมได้ย้ายเข้าโรงเรียนใหม่ ความกระอักกระอ่วนที่ก้าวเข้าไปในห้องเรียนครั้งแรกเป็นอะไรที่ลืมไม่ได้เลย จังหวะที่อาจารย์ประกาศชื่อของเราแล้วบอกให้ไปนั่งที่โต๊ะนั้น เป็นโอกาสที่ประกาศตนครั้งแรกๆ ของเรา คนส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไปเฉยๆ แล้วก็ไปนั่งลงในที่ว่างที่ห่างจากผู้คนที่สุดให้เร็วที่สุด
แต่ผมรู้สึกว่าคนอย่าง “บักจอน” จอน คาเธย์-แมคลิน น่าจะเป็นคนที่เดินทักทุกคนให้รอบห้องก่อน ก่อนที่จะเดินไปหาสาวที่น่ารักที่สุดในห้องแล้วไล่คนที่นั่งข้างเธอให้ลุกออกไป
BTSL 21/03/2015: PEA 56 : Nakhon Pathom Madgoat 66
การแข่งขันยังผ่านไปไม่ถึงสองนาที บักจอน ก็เริ่มแผลงฤทธิ์สร้างผลงานที่ตราตรึงจิตใจแฟนๆ ทุกคนได้ทันที
เขาตามเก็บลูกรีบาวด์ และลูกครึ่งๆ กลางๆ ราวกับสัตว์ป่ากระหายเลือด ตามบล็อกทุกเลย์อัพที่เข้าใกล้ห่วงราวกับมันเป็นหนุ่มวัยคะนองกลัดมันที่กำลังพยายามเข้าหาลูกสาวคนเดียวของเขา ถ้าใครที่เข้ามาดูเกมนี้ แล้วกลับไปโดยไม่รู้จักชื่อของ จอน คาเธย์-แมคลินนี่ เรียกว่าไม่ได้มาดูเลยดีกว่า ในเกมที่แล้วที่สองทีมนี้พบกัน โดนที่ บักจอนยังไม่มาร่วมทัพนั้น การไฟฟ้าฯ ถูกนำไป หกแต้มตั้งแต่ ควอเตอร์แรก แต่แล้ว ในครั้งนี้ ทีมการไฟฟ้าฯ ที่มีการชาร์จประจุใหม่เข้าไป จบควอเตอร์แรกด้วยแต้มเท่ากับจ่าฝูงอย่างนครปฐม แมดโกทส์ ได้ ถือว่าเท่ไม่เอาเลยทีเดียว
แต่แล้วทุกอย่างอาจจะดีเกินไป
คลอด 10 นาทีแรกของเกมนี้ บักจอน วิ่งสู้ฟัดมาโดยตลอด และรูปเกมของ การไฟฟ้าฯ ก็ดูมีแนวโน้มที่ดี แต่แล้วก็พบว่ามันดีเกินไป เริ่มต้นควอเตอร์สองได้ไม่ถึงนาที บักจอนก็เริ่มให้สัญญาณกับโค้ชหมูว่าให้ขอเวลานอก และในที่สุด เมื่อเกมหยุดลงไป บักจอน ก็ปรี่ออกจากสนามไปด้วยสีหน้าที่ไม่ค่อยดี
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาถามในบทสัมภาษณ์ ของเรา แต่ถ้าให้คาดการณ์แล้ว การที่บักจอนจะนั่งเครื่องบินหนึ่งวันกว่าจากอีกซีกโลก แล้วฟิตร่างกายให้ทันในช่วงเวลาเพียง 2 วันน่าจะเป็นเรื่องที่ยาก อีกทั้งยังห่างเหินจากการแข่งขันจริงๆ จังๆ มาตั้งแต่ วันที่ 20 ธันวาคม ปีที่แล้ว (เดาๆ จากรูปใน Facebook ของบักจอนที่มีรูปฉลองแชมป์ลีกที่โบลิเวีย) แต่เพียงแค่ระดับที่เขาเล่นไปได้ในเกมนี้ ถึงแม้ว่าอาจจะอยู่ที่แค่ 60% แต่แค่นั้นก็พอที่จะทำไป 16 แต้ม 19 รียาวด์ และ 3 บล็อกเลยเชียว
The Good and the Bad
เรามาวิเคราะห์เกมของ บักจอน กันแบบเบาๆ ดีกว่า:
- ความทุ่มเท: จุดนี้ บักจอนโชว์ออกมาได้ยอดเยี่ยมในช่วงเวลาที่เขาฟิตอยู่ในสนามจริงๆ ไม่อยากจะนึกว่า ถ้าร่างกายของเขาฟิตเต็มที่ และ คุ้นชินกับเวลา ในอีกสองสัปดาห์จะเป็นยังไง
- สวนสนาม: นี่คือจุดที่ผมอยากเห็นทีมการไฟฟ้าฯ เอาออกมาใช้ให้ได้เต็มศักยภาพ ด้วยระดับความทุ่มเทขั้นพื้นฐานแล้ว บักจอน มันออกตัวเต็มที่เวลาบุกสวนกลับเสมอ และในลีกนี้ ตอนนี้ หาคนที่จะมาหยุดบักจอนได้ยากด้วยส่วนผสมของขนาดตัว ศักยภาพร่างกาย และความดุดัน
- เกมใต้แป้น: เกมวงในของบักจอนก็ดูไม่ขี้เหร่ ถึงแม้จะได้เห็นน้อยครั้ง จังหวะที่เป็นตัวไกลในการ Pick And Roll นั้นก็เหมือนกับปล่อยให้ บักจอน ไหลหลุดเข้ามาได้แป้น ซึ่งถ้าเขาออกสตาร์ทตัวได้ดี โอกาสที่จะหยุดเขาค่อนข้างยากทีเดียว
- เกมวงนอก: อย่างไรก็ตาม จอน กลับชอบที่จะเริ่มต้นเกมบุกของตัวเองจากวงนอก มีนิสัยที่จะเป็นตัวดีดออก (Pop) จากการสกรีน มากว่าเป็นตัว Roll แต่มองในอีกแง่นึง อาจจะเกิดจากความเหนื่อยล้าสะสม เลยหลีกเลี่ยงการปะทะข้างใน เวลาได้รับบอลจากบริเวณเหนือเขตโทษ เขาก็มักจะพยายามทะลวงเกมรับจากจุดนั้น ถึงแม้ว่าเค้าจะแสดงให้เห็นว่า เขาสามารถยิง 3 แต้ม อีกทั้งยังยิงท่าแปลกๆ แบบ stepback แต่นั่นมันไม่ใช่จุดที่ทีมควรจะไปเน้นย้ำกับตัวจอน ยิ่งในลีกที่เต็มไปด้วยคนที่ตัวเล็กกว่า และ แข็งแรงน้อยกว่า
- การเลี้ยงลูก: ถ้าสังเกต จอนดีๆ จะเห็นว่าเวลาถือบอล จอนจะชอบมีจังหวะโยก ที่ยืดตัวออกอย่างช้าๆ ก่อนที่ทำท่าพุ่งไปอีกทางนึง แล้วเมื่อเลี้ยงลูกแล้วก็จะมีการสับมือหลอกอยู่บ่อยๆ เป็นอะไรที่ใช้หลอกคนกันได้เป็นครั้งคราว แต่พอได้ดูติดๆ กันบ่อยๆ แล้ว เกรงว่าจะโดนจับทางได้ง่ายๆ เลย
- การป้องกัน: เกมป้องกันคือจุดของบักจอน เพราะเขาทุ่มเท และ กระโดดได้สูงกว่าทุกๆ คนในสนาม แต่มันก็กลายเป็นจุดที่โดยแมดโกทส์แบไต๋อย่างรวดเร็ว ว่า จอนเป็นคนที่รีบกระโดดหาจังหวะบล็อก ดังนั้น การชิดตัวไว้ แล้วหาจังหวะยิง จึงแก้ทางได้ ระดับนึง อาจจะเป็นอะไรที่ จอน จะปรับตัวได้ในอีก เกม หรือ สองเกม แต่ ณ ตอนนี้ เป็นวิธีแก้ทางที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
ก็มีทั้งข้อดี และข้อที่อยากให้มีการปรับปรุง แต่การที่ได้จอนมาเสริมประจุให้การไฟฟ้าฯ ก็เป็นการเคลื่อนหมากที่จะมีบทสำคัญในการคลี่คลายดราม่าการชิงเก้าอี้ตำแหน่งสุดท้าย เพื่อเข้าสู้รอบ International ของ BTSL
บักจอนในสภาพ 60% สามารถทำให้การแข่งขันกับแมดโกทสูสีขึ้นมาได้ ไม่อยากจะคิดเลยว่า สภาพ 100% จะเป็นอย่างไร
In my Opinion
ในส่วนตรงนี้ของบทความ ผมขอยกสิ่งที่ผมชอบและไม่ชอบจากการดูเกมนี้
1. จอมทัพ: จำไม่ได้ว่าที่ผ่านมาได้มีการชื่นชมเกมของ “อาร์ม” ณัฐกานต์ เมืองบุญ ไปมากขนาดไหนแล้ว แต่ก็รู้สึกว่า เท่าไหร่ก็ไม่พอจริงๆ ถึงอย่างนั้นแล้ว บางทีก็ยังรู้สึกว่า เจ้าอาร์ม กลับยังไม่ค่อยเป็นชื่อที่ติดหูเท่าไหร่เลย หรือาจจะคิดไปเอง
เขาไม่ใช่การ์ดจ่ายที่หวือหวา แต่เขาไวที่จะอ่านเกมรับออก และอ่านผู้เล่นฝั่งตัวเองได้ดี การตัดสินใจก็เฉียบขาด ถ้าหากว่าจะยกให้ผมเป็นคนตัดสินว่า ผู้เล่นทรงคุณค่าของรายการแข่ง BTSL มาจนถึง ณ จุดๆ นี้คือใคร คงต้องขออนุญาตยกให้คนนี้ไปเลย
2. Super Mario: ไม่อยากให้อ่านบทความนี้ แล้วจินตนาการไปว่า บักจอน ลากพาทีมการไฟฟ้าฯ จนสูสี กับ แมดโกท ได้ ถ้าหากเกมนี้ ไม่ได้กัปตัน “โอ้” ทศพิธ ลังสุ่ย เกมก็มีสิทธิที่จะขาดไม่น้อยเช่นกัน โดยกัปตันโอ้ทำแต้มกระจุยกระจายมากในครึ่งแรก
ในครึ่งแรกครึ่งเดียวเขาทำไป 13 แต้มเลย แต่ในครึ่งหลังบทบาทของเขากลับลดลงไปมากพอสมควร
3. Gameplan: การไฟฟ้าฯ เล่นเกมรับที่ค่อนข้างพิศดารในเกมนี้คือ เป็นการจับ Box-and-1 แบบพลิกแพลง คือ แทนที่จะจับแมน 1 คนแล้ว โซน 4 คน กลับกลายเป็น จับ โซน 1 คน และ แมน 4 คน แทน ซึ่ง โซน 1 คนนั้น คือ บักจอน นี่เอง


ในการแข่งขันระดับ NBA ก็อาจจะถูกเป่าเป็น Zone Violation คือ มีคนกันอยู่ในพื้นที่ใต้แป้น โดยไม่มีตัวประกบชิด เกินกว่า 3 นาที แต่ก็ นี่มันมันไม่ใช่ NBA ซะหน่อย
บักจอน คอยคุ้มกันพื้นที่ใต้แป้น ก็เลยจะเหลือตัวนอก 1 ตัวที่ว่างตลอดเวลา ซึ่งแมดโกท เองก็ได้โอกาสยิงโล่งๆ หลายๆ ครั้ง เป็นการวางเกมที่ค่อนข้างเด็ดเดี่ยวสำหรับโค้ชหมูของการไฟฟ้าฯ แต่ก็มีคำถามที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาว่า ถ้าหากวันนี้ เจโอ มาแข่งด้วย โค้ชหมูจะยังกล้าเสี่ยงกับรูปแบบการป้องกันแบบนี้หรือไม่
เกมป้องกันอาจจะดูมีอะไร แต่เกมบุกของการไฟฟ้าฯ ยังคงจืดชืดพอสมควร ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวสำหรับตัวที่ไม่มีบอล และหลายครั้งที่เราสามารถสรุปการบุกของการไฟฟ้าฯ ว่าเป็นการที่คนนึงเคาะบอลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคนมาสกรีน แล้วลองดูต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมันก็เลยดูติดๆ ขัดๆ ในหลายครั้งๆ
ในทางกลับกัน เกมบุกของ แมดโกท ดูเหมือนจะเปิดกว้างมากกว่า มีการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระกันมากกว่า อาจจะเป็นเพราะเล่นด้วยกันมานาน เล่นรับรู้ได้่าต้องเคลื่อนไหวจากไหนไปไหนกันเอง ที่จะไม่ทำให้เกมบุกตัน มันไม่เชิงเป็นการวางทางให้วิ่งซะทีเดียว แต่เหมือนว่าเป็นการเข้าเรื่องพื้นที่ว่าง และ การเข้าหาพื้นที่ว่าง


4. พี่ใหญ่ ใครอย่ามายุ่ง: อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ในบทความที่แล้ว การที่มี “ยักษ์” ชัยวัฒน์ แกดำ พร้อมลงจากม้านั่งสำรองช่วงระยะเวลาสั้นๆ ยามคับขันนั้นเป็นอะไรที่มีค่ามากสำหรับ แมดโกท นอกจากว่าสร้างมิติเพิ่มให้กับเกมรุก ยังทำหน้าที่เป็นลูกพี่ใหญ่ที่สร้างจังหวะกดดันการป้องกันคู่ต่อสู้ได้ดีมากด้วย
และสิ่งที่เจ๋งที่สุด คือการที่มีพี่ยักษ์นั่งข้างสนาม และสร้างบรรยากาศให้กับพวกพ้อง:
โดยสรุปแล้ว หากว่าเกมนี้ การไฟฟ้าฯ คว้าชัยชนะออกไปได้ก็คงเป็นภาพในอุดมคติสำหรับพวกเขา และถึงแม้จะไม่สำเร็จ แต่ผลก็ไม่ได้ต่างจากที่วาดไว้มากนัก อีกทั้งยังน่าจะพอใจกับฟอร์มของตัว Import มากพอสมควรด้วย
ในสุดสัปดาห์นี้ จะมีการแข่งขัน BTSL สองคู่ ตามต่อไปนี้:
วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม เป็นการแข่งขันระหว่างทีม สโมสรโมโน แวมไพร์ กับ ทีม นครปฐม แม๊ดโกท ที่สนามประชานิเวศน์
วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม เป็นการแข่งขันระหว่าง ทีม สโมสรการไฟฟ้าฯ กับ ทีมสโมสรทิวไผ่งาม ที่ LED Building
โดยติดตามได้ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ถึง 16.00 น. ได้ทางช่อง 3 แฟมิลี่
ตามไลค์เพจของรายการแข่ง BTSL ได้ตามรูปข้างบนได้เลยนะครับ การแข่งขันดีๆ ของคนไทย น่าสนับสนุน
รูปถ่ายสวยๆ ขอขอบคุณช่างภาพคุณกุุ๊ก อรวิสา ทิวไผ่งาม
One thought on “BTSL Game Recap 21/03/15 Nakhon Pathom Madgoats vs. PEA: หน้าใหม่”