การที่เราได้ดูบาสได้ติดตามบาสอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง บางอย่างอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างเช่นว่า ผู้เล่นคนนี้ ใส่เสื้อเบอร์นี้ เพราะอะไร บางทีอาจจะเป็นรายละเอียดที่ทำให้เราเล่นบาสดีขั้น เช่น การป้องกันลูก Pick and Roll ที่ถูกต้อง
บางครั้ง หากเราจดจ่ออยู่กับบาสจริงๆ หากเราเพ่งเล็งลงไปถึงแก่นสารของมัน เราอาจจะได้บทเรียนอะไรมาปรับปรุงชีวิตเลยทีเดียว
For English, click Here
สำหรับภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่
14/8/14 HITECH BANGKOK CITY 100 – LASKAR DREYA SOUTH SUMATRA 91 (OVERTIME)
Laskar Dreya South Sumatra เป็นทีมน้องใหม่ใน ABL และเริ่มต้นฤดูกาลออกมาอย่างตะกุกตะกัก แพ้ไปห้าเกมติดต่อกัน โดยโดนแต้มทิ้งห่างเฉลี่ยถึง 23.2 แต้มต่อเกม
ด้าน Hi-Tech Bangkok City กำลังฉลุย มีสถิติชนะสี่เกมรวด แต้มทิ้งห่าง 13.2 แต้มต่อเกม
อย่าว่าแต่ เรื่อง Laskar Dreya จะชนะเลย แม้แต่ความคิดว่า Laskar Dreya จะแข่งขันได้อย่างสูสีกับ Hi-Tech ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อเลย
ในควอเตอร์ที่สี่ เหลือเพียง 28 วินาที ใครจะเชื่อ ว่า ทีมยัดห่วงกรุงเทพ จะนำ Laskar Dreya อยู่เพียง 1 แต้ม Hi-Tech จากจุดนี้ Hi-Tech mี่กำลังครองบอลเพียงแค่ต้องใช้ Shot clock ให้มากที่สุดก็น่าจะชนะได้ไม่ยากแล้ว ถึงแม้ว่าจะได้ยิงลูกยิงที่ไม่มีความชัวร์เท่าไหร่ แต่ก็ยังมีสองคู่หูยักษ์ใหญ่ สตีฟ และ ชาร์ลส์ที่พร้อมกวาดลูกรีบาวด์ เพื่อใช้เวลาจนหมด ถ้าซวยยิ่งกว่านั้น คือเก็บรีบาวด์ฝั่งรุกไม่ได้ เวลาก็คงเหลือไม่เกิน 7 วินาที ซึ่งก็มากพอที่จะทำแต้มได้ แต่ก็คงไม่ได้ยิงกันง่ายๆ
และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
Laskar Dreya ตั้งโซน 2-3 มาเรียบร้อย จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยที่ Hi-Tech ตัดสินใจจะส่งบอลให้ Charles ตั้งแต่ช่วงนอกเขต สามแต้มซะอีก ทั้งที่ผู้เล่นปีกที่มีอยู่ในสนาม ทั้งพี่นพ ทั้งบาส มณเฑียร และ เจอริค กานยาด้า ต่างก็มีทักษะการครองบอลที่ดี จนถึงดีมาก แน่นอนว่า ท้ายสุดแล้ว คงจะต้องเป็น Charles ที่ทำหน้าที่ปิดคะแนน แต่ ไม่ใช่การโยนบอลให้เขา ณ จุดตรงนี้ที่มี Rexander Leynes พร้อมจะตะปปเหยื่อยาวๆ เคลื่อนไหวช้าๆ แบบนี้อยู่แล้ว
และก็เป็นอย่างที่ว่า Leynes สามารถชิงบอลออกจาก Charles ที่กำลังขยับขยายกิ่งก้านยาวๆ ของตัวเองเพื่อถ่ายบอลไปอีกฟาก Leynes ขโมยบอลมาได้สำเร็จและเร่งฝีเท้าขึ้นไปบุก (ถึงแม้ว่าจะมีการเหยียบเส้นขอบสนามและกรรมการไม่เห็น)
ซึ่งโดยร่วมแล้ว นั่นคือสิ่งที่ Laskar Dreya South Sumatra ทำได้ดีมาทั้งคืน
Hi-Tech เสียการครองบอลไปถึง 15 ครั้ง และทาง Laskar Dreya สามารถใช้โอกาสจากจุดนี้ทำไปถึง 17 แต้ม Laskar Dreya ได้ใช้กลยุทธการกดดันและสวนกลับเพื่อรักษาระยะห่างให้ จนกระทั่งเกมบุกของ Hi-Tech ชะงัก เพียงไม่กี่เพลย์ แต้มก็เกือบจะเท่ากันแล้ว
หลังจากที่ขโมยลูกจาก Charles ได้แล้ว Leynes ก็พุ่งออกไป แต่ก็โดน Foul สะกัดไว้ก่อน หลังจากที่ตามมาทั้งเกม อยู่ดีๆ Laskar Dreya ก็มีโอกาสตีเสมอ และขึ้นนำ เป็นลาภมาเฉยเลย Leynes ยิงลูกโทษลูกแรกลงไป ซึ่งได้เสียงตอบรับมาจากเพื่อนร่วมทีมอย่างท่วมท้น
และแล้ว เมื่อ Leynes พลาดลูกที่สอง ใครจะไปคาดได้ว่า ทีมที่โดนข่มด้านเกมรีบาวด์มาทั้งเกม (ซึ่งไฮเทคทิ้งห่างด้านเกมรีบาวด์ห่างกันถึง 24 ครั้ง) จะได้ลูกรีบาวด์เกมรุก
ในช่วงที่เกมกำลังแต้มเสมอ และเวลาไหลลงเรื่อยๆ จาก 15 วินาที ทีมมวยรองบ่อนอย่าง Laskar Dreya กลับมาโอกาสที่จะชนะเกมนี้ให้ขาดได้ภายในดาบเดียว
Leynes ข้ามเข้าหาห่างด้วยลูก spin move สุดสวย ก่อนที่จะทอยลูก floater ระดับกลางที่เด้งออกจากห่วงไป และต้องมีการแข่งต่อเวลา
Tough & Buff
นอกจากแผนเกมที่คอยกดดันเอา turnover อย่างต่อเนื่อง Laskar Dreya ยังวางตัวชัดเจนว่าในเกมนี้ว่าจะดุดันกับยักษ์คู่ขอล Hi-Tech Steve Thomas และ Chris Charles.
Charles ไม่มีปัญหากับการต่อกรกับแผนเกมนี้ ซึ่งเขาก็ใช้ความอ่อนตัว และความยาวเข้าสู้ ในขณะที่ Thomas ลำบากกว่านิดหน่อย ถึงแม้ว่าจะทำได้ตั้ง 24 แต้ม และ รีบาวด์ 14 ครั้ง แถมจ่าย assist ไปอีก 4 แต่การยิงลูกโทษของเขาค่อนข้างแย่ (39%) นอกจากนี้เขายังเก็บ foul ไป 4 ครั้ง ซึ่งลูกนึงคาดว่าเกิดความหงุดหงิด แบบปลดปล่อยอารมณ์กับก้านคอของ Leynes ไปเต็มๆ
เข้าใจว่าทาง Thomas เองก็ฉุนเฉียวหงุดหงิดกับการตอดของ Laskar Dreya มาทั้งเกม และชื่นชมว่าเขาก็ทนมาได้ตั้งนาน แต่ในฐานะที่เป็นผู้นำของทีม คุณไม่ควรจะทำ unsportsmanlike foul ที่จะให้โอกาสทีมที่กำลังตามอยู่ตีตื้นขึ้นมาจากลูกโทษสองลูก และได้ครอบบอลต่ออีก

Cuts and Slash
จุดศูนย์กลางของเกมบุก Laskar Dreya อยู่ที่พลังในการข้ามเข้าหาห่วงของคู่ Rexander Leynes และ Falando Jones

สำหรับ Rexander Leynes ของ Laskar Dreya เขาเป็นคนที่มีลักษณะการข้ามคล้ายๆ กับการพุ่งเข้าหาของจรวด เพราะมีความเร็วช่วงต้นสูง
ส่วน Falando Jones จะมีการข้ามเข้าหาห่วงที่อาจจะไม่ดุดันรุนแรงเท่า Leynes แต่เขาจะเหมือนไหลเข้าไปตามกระแส และไปวางที่ห่วงได้นิ่มๆ
Jones อาจจะยังไม่เป็นที่กล่าวขานกันในระดับเดียวกับ Charles, Thomas, Justin Williams หรือ Chris Eversley เนื่องจากผลงานของทีมไม่ดี แต่ผมคิดว่าเขาน่าจะเป็นนักบาสที่มีศักยภาพทางร่างกายที่ดีที่สุดใน ABL คนนึง
เมื่อมีสองคนนี้ ทำหน้าที่ทะลวงฟันเกมรับของคู่ต่อสู้ และมีมือปืนใหม่อย่าง Nikola Kuga ที่พร้อมจะส่องลูกยิงสามแต้มโล่งๆ จากการจ่ายออกมาจาก zone ทีมนี้กลายเป็นทีมที่มีพลังการบุกจากข้างนอกที่สูงมากเลยทีเดียว
Pillsbury!
ถึงเวลาของขวัญใจนักเขียนแล้ว!!!

พี่แก้ว “Pillsbury” ได้กลับมาอีกครั้งกับผลงานที่ยอดเยี่ยม ทำไป 10 แต้มจากการข้ามอย่างรวดเร็วเข้าหาห่วง แม้ว่าเขามักจะเป็นผู้เล่นที่ตัวเล็กที่สุดในสนาม แต่พี่แก้ว Pillsbury ก็ไม่เคยที่จะถอยตอนป้องกัน และไม่กลัวที่จะข้ามเข้าหาห่วงที่มีชาวต่างชาติที่สูงกว่าเกือบ 30 เซนติเมตรรอตบอยู่ เด็กคนไหนที่คิดว่าตัวเล็กแล้วจะเล่นบาสไม่ได้ ได้โปรดดูพี่แก้วเล่น และลองคิดดูอีกที

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอใช้พื้นที่ส่วนนึงในการอวยพรวันเกิดให้กับลูกสาวของพี่แก้ว (เพนนี) สำหรับวันครบรอบวันเกิดรอบที่ 1 ขอให้น้องเพนนีมีความสุข และ ประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจทำ เหมือนอย่างพ่อนะครับ
Out of Nowhere
สำหรับ 4 เกมที่ผ่านมา Form การยิงของจ้าวหรั่ง ณกรณ์ ใจสนุก ค่อนข้างจะแย่ โดยยิงสามแต้มลงเพียง 1 ลูกจากโอกาสการยิง 12 ครั้ง สำหรับนักบาสที่มีชื่อได้ขนานนามว่าเป็น มือปืนของทีม และสวมเสื้อเบอร์เดียวกับสุดยอดมือยิงอย่าง Kevin Durant (#35) แน่นอนว่า หรั่งต้องมีจุดที่จะคืนฟอร์มอย่างแน่นอน และก็เป็นความโชคดีของ Hi-Tech ที่เวลานั้นคือช่วงต่อเวลาของเกมนี้
หรั่งยิงสามแต้มลงในช่วงเวลาที่ทีมกำลังต้องการทิ้งห่างพอดี และมันก็ทำให้ Hi-Tech สามารถเก็บชัยชนะได้อย่างโล่งใจมากขึ้น
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ต้องยกเรื่องความแกร่งของผู้เล่นชุดสำรองของ Hi-Tech ที่สามารถวนตัวออกมาได้เรื่อยๆ และครั้งแล้วครั้งเล่าที่ Hi-Tech ก็ได้พิสูจน์ความแข็งแกร่งนี้ เหมือนกับว่าในแต่ละเกม ผู้เล่นท้องถิ่นไทย จะก้าวขึ้นมารับบทบาทเด่นต่างๆ กัน ซึ่งความหลากหลายแบบนี้ น่าจะทำให้ทีมฝ่ายตรงข้าม เตรียมแผนรับมือได้ยากขึ้นหลายเท่า
Doppleganger
การประกบคู่ที่ดุเดือดที่สุดของเกมนี้ เป็นคู่ระหว่าง “สิงห์” ชนะชล กล้าหาญ กับ Brian Illad
สาบานได้ว่า หากผมตัดสินใจเขียนบทความเรื่องนึงเกี่ยวกับการที่ สองคนนี้ได้พบเจอฝาแฝดที่พลัดพรากกันไปตั้งแต่เด็กอย่างปฏิหาริย์บนสนามบาส อาจจะมีหลายๆ คนที่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริงได้

#Marketing
กลยุทธการตลาดนี้ถูกใช้ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัย Akron (University of Akron) ซึ่งนำเอาชื่อ Twitter ของนักกีฬามาแปะไว้ที่หลังแทนชื่อนักกีฬาเอง สำหรับทีม Laskar Dreya นี้ อาศัยที่ชาว Indonesia มีการใช้งาน Twitter เป็นจำนวนมาก จึงมีการเผยแพร่ Twitter ของตัวทีมไว้ที่หลังเสื้อแข่งซะเลย
ในขณะที่สังคมพึ่งพา social media มากขึ้น การที่ได้เห็นทีมกีฬาอาชีพ พยายามสร้างสรรค์แนวทางการประสานแนวทางของสังคมเข้ากับแผนการตลาดของตัวเอง เป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตาม หากว่าในอนาคต เราเห็นเสื้อของ Hi-Tech มีแปะชื่อ Instagram ของ Hi-Tech เอง ก็อาจจะเป็นเรื่องที่กระตุ้นความตื่นตัวใน Social Network ของทีมก็เป็นไปได้
Lessons Learned
หลังจากที่ได้ดูเกมนี้ ได้ดู Laskar Dreya ต่อสู้จนทีมที่ยังไม่แพ้ใครอย่าง Hi-Tech หลังชนฝาเกือบต้องพ่ายนั้น มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราควรจะได้อะไรจากเกมนี้ไปบ้าง มันคือความรู้สึกว่า เวลาเขียนต่อจากนี้ไป ถึงแม้ว่าจะเกิดอุปสรรคหรือย่อท่ออะไรขึ้นมาอย่างไร เราก็ต้องสู้ต่อไป ท้ายสุดแล้ว ความพยายามมันก็จะกลายรูปเป็นความสำเร็จในที่สุด อาจจะไม่ใช่วันนี้ วันนี้อาจจะเพียงแค่ได้เข้าใกล้ แต่ท้ายสุดแล้ว วันนั้นก็จะต้องมาถึง
รูปภาพ Featured Picture จาก กุ๊ก KukThew ซึ่งสามารถติดตามผลของน้องเขาได้ตาม Link นี้ อยากจะขอขอบคุณที่ได้มีภาพสวยๆ มาให้ผมได้ใช้งานและทำลายล้างด้วยการตัดต่อแบบห่วยๆ เสมอครับ
สำหรับเกมถัดไปของ Hi-Tech Bangkok City จะพบกับ Indonesia Warriors อีกครั้งนึง ในวันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม นี้ เวลา 19.00 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นเหมือนเดิม ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นั่นแปลว่าทาง Hi-Tech จะมีเวลาพักเพียงหนึ่งวันหลังจากแข่ง เกมสาม และเกมตัดสินรอบชิง Thailand Basketball League ซึ่งมีการแข่งขันในวันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน
2 thoughts on “ABL Recap: เกินคาด”